เมื่อน้ำหนักขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ตัวบวม รู้สึกอ้วนอึดอัด หลายคนมักสงสัยว่า เกิดจากต่อม ไทรอยด์ ทำงานผิดปกติ หรือเป็น ความอ้วน หรือโรคอ้วน กันแน่ ดังนั้นการพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็กและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ก่อนเริ่มรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะได้ทราบต้นเหตุที่แท้จริง และดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี
รู้ลึก ความสัมพันธ์ ไทรอยด์ กับ โรคอ้วน
นพ.ณัฐนนท์ มณีเสถียร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนในการควบคุมการเผาผลาญ และรักษาอุณหภูมิของร่างกาย หากไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ย่อมส่งผลให้ระบบในร่างกายทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งโรคไทรอยด์จะมีหลายชนิด แต่ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน แล้วส่งผลกับระบบการเผาผลาญเป็นหลัก มี 2 ชนิด ได้แก่
ไทรอยด์ กับ 2 ความผิดปกติของฮอร์โมน
1. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroid) คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมน จึงเกิดการเผาผลาญน้อย ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวม อ้วนง่าย เพลียง่าย ง่วงบ่อย ผิวแห้ง หนาวง่าย เป็นต้น
2. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือไทรอยด์เป็นพิษ คือ การที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนมากเกินไป จึงเผาผลาญมากกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำหนักลดลง หิวง่าย กินเยอะแต่ไม่อ้วน เหนื่อยง่าย ขับถ่ายบ่อย มือสั่น ใจสั่น ร้อนง่าย
ไทรอยด์ทำงานน้อย น้ำหนักตัวเพิ่ม
ดังนั้น ภาวะต่อม ไทรอยด์ ที่มีความสัมพันธ์กับ ความอ้วน จะเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroid) เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานลดลง ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนอ้วน ต้องมีภาวะไทรอยด์เสมอไป และในผู้ที่ลดน้ำหนักมากเกินไป ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะไทรอยด์ นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ที่สามารถพบได้ อย่างก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เนื้องอกต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ต่อมไทรอยด์โต จึงควรสังเกตอาการไทรอยด์เบื้องต้นด้วยตัวคุณเอง
สาเหตุที่เกิดภาวะ ไทรอยด์
โดยสาเหตุในการทำให้เกิดภาวะ ไทรอยด์ ได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานผิดปกติ จนทำให้ไทรอยด์ทำงานเยอะเกินไป หรือทำงานน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย รวมถึงในคุณแม่หลังคลอดบุตร อาจมีภาวะไทรอยด์อักเสบหลังคลอดได้เช่นเดียวกัน หรือพันธุกรรมจากคนในครอบครัว รวมถึงยาบางชนิดที่ส่งผลให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือยารักษามะเร็งบางตัว ภาวะขาดไอโอดีน
การรักษา ไทรอยด์
การรักษา ไทรอยด์ จะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ กรณีที่ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ สามารถรับประทานยา เพื่อปรับให้ไทรอยด์ทำงานปกติได้ ถ้ามีถุงน้ำในไทรอยด์ รักษาโดยการเจาะดูดน้ำในก้อนไทรอยด์ ด้วยเข็มขนาดเล็ก หรือรักษาด้วยการทำ Percutaneous Ethanol Injection คือการฉีดแอลกอฮอล์เข้มข้นไปในถุงน้ำไทรอยด์ ทำให้ถุงน้ำยุบลง แต่ถ้าเป็นมะเร็งไทรอยด์จำเป็นต้องผ่าตัดไทรอยด์ออก
How To ดูแลตัวเองเมื่อเป็น ไทรอยด์
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่มีไอโอดีน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลใจไม่ให้เครียด เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการทำงานผิดปกติของไทรอยด์ และหากป่วยแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบรักษา อาจทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือร้ายแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ จึงควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาไทรอยด์ให้หายโดยเร็วที่สุด