สัญญาณอันตราย วัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าผู้ชาย เหตุใส่สารปรุงรส แต่งกลิ่น 16,000 ชนิด ชี้หญิงชาวอังกฤษ ติดบุหรี่ไฟฟ้าหนัก ท้องยังไม่เลิกสูบ ทำเด็กเสี่ยงตาย พิการ และแท้ง…
ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลการสำรวจของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ปี 2564 พบอัตราการสูบ บุหรี่ไฟฟ้า ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายเท่ากับ 0.8% เพศหญิง 1.9%
ขณะที่ผลการสำรวจภาวะสุขภาพของนักเรียนอายุ 13-17 ปี โดย “กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” ปี 2564 พบว่า นักเรียนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า 18.7% นักเรียนหญิง 8.9% อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของ ผู้หญิง ที่เพิ่มมากขึ้น และสูงกว่า ผู้ชาย มีความน่าเป็นห่วง ทั้งที่ผ่านมาอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยต่ำมาก จากสถิติล่าสุดปี 2564 เพศชายสูบบุหรี่ 34.7% เพศหญิง 1.3% เนื่องจากการสูบบุหรี่ (ธรรมดา) ของหญิงไทย ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม อาจจะเรื่องค่านิยม รวมทั้งกลิ่นเหม็นของบุหรี่ธรรมดาหรือยาเส้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจจากทั่วโลก รวมทั้งไทย พบวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้า สูงเท่ากับ หรือสูงมากกว่าวัยรุ่นชาย เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงเอเชีย รวมถึงไทย สาเหตุมาจากบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ผู้ผลิตใช้สารปรุงรสมากกว่า 16,000 ชนิด และไม่มีกลิ่นเหม็นจากการเผาไหม้ รวมทั้งอุปกรณ์สูบที่รูปทรงสวย ขนาดเล็ก สามารถพกซ่อนติดตัวได้ง่าย ทำผู้หญิงเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า มีอำนาจเสพติดสูงมาก ข้อมูลจากอังกฤษ ปี 2020 อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงคลอดบุตรสูงถึง 10.4% จากจำนวนหญิงคลอดบุตร 6 แสนกว่าคน สะท้อนว่ามีหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6 หมื่นคน ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์จนถึงคลอดลูก แม้รู้ว่าการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ ตั้งแต่การเสี่ยงแท้งลูก ลูกคลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด เด็กตายหลังคลอด จนถึงเด็กคลอดออกมาพิการปากแหว่ง
“การที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้แม้ระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งที่อังกฤษมีโครงการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ ให้เลิกสูบอย่างจริงจัง แสดงถึงความรุนแรงของการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ ซึ่งการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ก็เป็นการเสพติดนิโคตินตัวเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีงานวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะเลิกยากกว่าบุหรี่ธรรมดา เพราะแรงจูงใจในการเลิกของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีน้อยกว่าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา จากการที่มีความเชื่อผิดๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า จึงขอวิงวอนให้ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน เร่งให้ความรู้อันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็กและยาวชน เพื่อป้องกันเยาวชน โดยเฉพาะเพศหญิงจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว