โรคลมพิษ แม้ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่สบายตัว รำคาญใจ โดยเฉพาะ โรคลมพิษเรื้อรัง ที่สร้างความรำคาญ จากอาการคันได้อย่างต่อเนื่อง จนรบกวนคุณภาพชีวิตตลอดจนการนอน ยังทำเสียบุคลิกภาพและความมั่นใจ แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต การได้รับการรักษาโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
โรคลมพิษ คือ? อันตรายจาก ลมพิษเรื้อรัง
พญ.ลินน่า งามตระกูลพานิช แพทย์ผู้ชำนาญการด้านภูมิแพ้และหอบหืด ศูนย์ภูมิแพ้และหอบหืด ร.พ.กรุงเทพ กล่าว โรคลมพิษเรื้อรัง คือ ผู้ที่เป็น ลมพิษ จะมีอาการผื่นลมพิษแบบเป็นๆ หาย ๆ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเป็นต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป
ทั้งนี้ ผื่นลมพิษเรื้อรัง มีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ มีลักษณะปื้น นูนแดง คันไม่มีขุย และขอบเขตชัดเจน ผื่นกระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งแขนขา ใบหน้า รอบดวงตา ปาก ผู้ป่วยบางคนอาจปากบวม และตาบวมร่วมด้วย หากผื่นอยู่นาน อาจทิ้งรอยดำ และมีจุดเลือดออกในผื่นได้
ปัจจัยที่กระตุ้นให้ โรคลมพิษ กำเริบ
- ปัจจัยกระตุ้นทางกายภาพต่อผิว เช่น ความเย็น วัตถุเย็น แรงกด ความร้อน แรงขีดข่วนผิว
- โรคเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, การติดเชื้อ
- อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด ของหมักดอง
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
- การแพ้สารสัมผัส เช่น ขนสัตว์ ถุงมือยาง ไรฝุ่น พิษแมลง เนื้องอกและมะเร็งอวัยวะต่างๆ และยาบางชนิดที่ร่างกายเกิดการแพ้
- ความเครียด มีผลกับการกระตุ้นของโรคได้
การรักษา โรคลมพิษ ลมพิษเรื้อรัง
- การตรวจวินิจฉัย ลมพิษเรื้อรัง จะเริ่มจากซักประวัติเกี่ยวกับผื่น ระยะเวลาที่เกิดผื่น ปัจจัยที่กระตุ้นผื่น รวมถึงการตรวจร่างกายอย่างละเอียด พิจารณาลักษณะผื่น
- ตรวจเลือด ตรวจทางห้องปฏิบัติการตามคำแนะนำของแพทย์ การรักษาลมพิษเรื้อรังเป็นไปตามสาเหตุ และปัจจัยกระตุ้นเป็นสำคัญ เพื่อลดผื่นที่เกิดขึ้น
- รักษาอาการด้วยยา ได้แก่ ยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้ ช่วยรักษาและควบคุมอาการของโรค จะมีหลายชนิด และมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน รวมถึงผู้ป่วยต้องมีการปรับยาเป็นระยะ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมในระยะยาว
- การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ยาในกลุ่มอื่นๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังมีอาการหนัก ได้รับยาฮีสตามีนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการพิจารณาให้ยาเพิ่มเติม เช่นยาฉีด กลุ่ม steroid ตลอดจนยากลุ่ม biologic เพื่อยับยั้งการสร้างและหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ
ข้อควรระวังของผู้ป่วย โรคลมพิษ ลมพิษเรื้อรัง
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ดูแลให้ถูกวิธีเมื่อป่วย โรคลมพิษเรื้อรัง ต้องปฏิบัติดังนี้ :
- เลี่ยงสาเหตุ และปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นลมพิษกำเริบ
- กินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากกินยาแล้วมีอาการง่วงซึม จนกระทบการทำงานและการใช้ชีวิต ควรแจ้งแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา
- ห้ามหยุดกินยาด้วยตัวเองต้องแพทย์สั่งเท่านั้น
- ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องไม่แกะเกาที่ผิวหนัง
- ลมพิษเรื้อรัง อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน กว่าจะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยจึงควรมีวินัยในการกินยาและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ทำใจให้สบายไม่เครียด.