พบโควิด 19 สายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอน รายแรกของไทย ขณะที่สายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มต่อเนื่อง…
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวล ในรอบสัปดาห์ (19-25 พ.ย.) ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 299 ราย พบว่า…
ในภาพรวมสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% (จาก 42.9% สัปดาห์ก่อน) จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ในประเทศ พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย (จำนวนนี้รวม 216 ราย) และพบว่า BN.1 – ลูกหลาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 4 เท่าตัว (มีความเป็นไปได้ที่จะทดแทนสายพันธุ์เดิม)
ทั้งนี้ ยังพบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย โดยสายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอน (ลูกผสมของเดลตา+โอมิครอน BA.2) ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว 1 ราย ปัจจุบันหายเป็นปกติดีแล้ว
สำหรับ ข้อมูล ณ 20 พ.ย. 2565 พบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูลสากล GISAID จำนวน 153 ราย ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น
สถานการณ์ทั่วโลกรายสัปดาห์ ดังนี้ :
- BA.5 และสายพันธุ์ลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คิดเป็น 72.1%
- BA.4 และสายพันธุ์ลูกหลาน ลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0%
- BA.2 และสายพันธุ์ลูกหลาน คิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
- BA.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบน้อยกว่า 1%
- BQ.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 19.1% พบเพิ่มเป็น 23.1%)
- XBB (สายพันธุ์ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75) และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 2.0% พบเพิ่มเป็น 3.3%