ฟอร์มาลิน สารอันตราย แนะ 4 วิธีเลี่ยงอาหาร ที่มักปนเปื้อน และอาหารที่พบบ่อย ชี้ ด่างทับทิม ตัวช่วยสำคัญ…
เพจสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้โพสต์ แนะนำวิธีตรวจสอบ หรือเลี่ยงอาหารที่มักผสม ฟอร์มาลิน จากกระแสข่าวทลายแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำผสม ฟอร์มาลิน รายใหญ่ที่จังหวัดชลบุรี ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน
แนะ 4 วิธีเลี่ยง ฟอร์มาลิน สารอันตราย
- อาหารสด เมื่อดมกลิ่นจะต้องไม่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก
- ผักผลไม้ที่ยังดูสด ไม่เหี่ยว ทั้งๆ ที่วางขายมาตลอดทั้งวัน
- เนื้อสัตว์สด ที่มีสีเข้ม และสดผิดปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ได้แช่เย็น
- ก่อนนำอาหารสดมาปรุง ควรล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้ง
รวม อาหาร ที่พบสาร ฟอร์มาลิน
- อาหารทะเลสด เช่น กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก
- ผักสด
- ผลไม้สด
- เนื้อสัตว์สด
ดม สังเกต เช็ก ฟอร์มาลิน ปนเปื้อนเบื้องต้น
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อาหารที่มักพบสาร ฟอร์มาลิน ปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบ หรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผล หรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูก แสดงว่า มีฟอร์มาลินปนเปื้อน
ด่างทับทิม ตัวช่วยแก้สาร ฟอร์มาลีน
เมื่อซื้ออาหารมาแล้ว ควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะ ฟอร์มาลีน ทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมต ซึ่งละลายน้ำได้.