ปลูกถ่ายตับ การรักษาโรคตับ ที่เป็นความหวังของผู้ป่วยโรคตับ TOPPIC Time จะพาทุกคนไปรู้จักเรื่องราวของ ตับ และการ ปลูกถ่ายตับ ให้มากยิ่งขึ้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผศ.นพ.สุปรีชา อัสวกาญจน์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี และการปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ จะมาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง
รู้ลึก ตับ การปลูกถ่ายตับ รักษาตับแข็ง มะเร็งตับ ตับวายเฉียบพลัน
ตับ คืออะไร?
ตับ หรือ Liver เป็นอวัยวะสำคัญที่พบในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์บางชนิด ในร่างกายมนุษย์ ตับ อยู่ในช่องท้องซีกขวาด้านบนใต้กระบังลม ตับมีหน้าที่หลายอย่าง รวมทั้งการกำจัดพิษในเมแทบอไลท์ คือสารที่ได้จากขบวนการเมแทบอลิซึม การสังเคราะฆ์โปรตีน และการผลิตสารชีวเคมีต่างๆ ที่จำเป็นในกระบวนการย่อยอาหาร ถ้าตับล้มเหลว หน้าที่ของตับไม่สามารถทดแทนได้ในระยะยาว โดยที่เทคนิคการฟอกตับ อาจช่วยได้ในระยะสั้น
ตับ อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของร่างกาย
ตับ เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากผิวหนัง และเป็นต่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยปกติ ตับ ของผู้ใหญ่ จะมีน้ำหนักราว 1.3- 3 กิโลกรัม และมีจะลักษณะนุ่ม มีสีชมพูอมน้ำตาล
การปลูกถ่ายตับ คือ
การปลูกถ่ายตับ คือ การตัดเอา ตับ ทั้งหมดของผู้ป่วยออก และทำการปลูกถ่ายตับใหม่ เข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย โดยปัจจุบัน การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ถือเป็นหนึ่งในการรักษาที่เป็นมาตรฐาน สำหรับภาวะตับที่ผิดปกติหลายประเภท ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับตับ หรือตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อน ที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ด้วยทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือทันสมัย และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
การปลูกถ่ายตับ เพื่อรักษาโรคต่างๆ
ผศ.นพ.สุปรีชา กล่าวว่า การปลูกถ่ายตับเป็นการรักษาที่เหมาะสมกับบางโรค หรือความผิดปกติทางตับเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ได้แก่
1. ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis) ระยะสุดท้าย
เป็นภาวะตับแข็งที่ตับไม่ทำงานแล้ว หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายอย่างมาก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของตับแข็งรุนแรง เช่น เส้นเลือดดำที่หลอดอาหารโป่งพองผิดปกติ ภาวะท้องมานที่ไม่สามารถควบคุมด้วยยาได้ดี และภาวะโรคทางสมองจากตับ ทำให้มีอาการสับสน เป็นต้น
2. ภาวะตับวายเฉียบพลัน (Fulminant Hepatic Failure)
เป็นภาวะที่ตับไม่ทำงานเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะโรคทางสมองจากตับ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะมีผลต่อไปถึงอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มาก
3. มะเร็งตับระยะแรก (Early Hepatocellular Carcinoma)
จากการศึกษาพบว่า กรณีมะเร็งตับที่มีขนาดเล็ก และจำนวนไม่มากเกินไป มีอัตราการรอดชีวิตดี และมีอัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งตับน้อย ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ภาวะการทำงานของตับผิดปกติโดยกำเนิดบางชนิด อาจมีผลทำให้ตับผิดปกติ ในลักษณะที่ทำให้มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย
การผ่าตัดปลูกถ่าย ตับ ทำได้ 2 แบบ
การผ่าตัดปลูกถ่ายตับสามารถแบ่งเป็น 2 แบบตามที่มาของอวัยวะ ได้แก่
– ตับจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (Cadaveric Liver Transplantation)
เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ โดยนำตับจากผู้บริจาคที่สมองตายแล้ว ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบนี้
– ตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ (Living – Related Liver Transplantation)
เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ โดยแบ่งตับส่วนหนึ่งมาจากผู้บริจาคที่มีชีวิต เช่น การผ่าตัดแบ่งตับจากผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยเด็ก หรือแบ่งตับผู้ใหญ่ไปปลูกถ่ายในผู้ใหญ่ด้วยกัน การผ่าตัดทั้งสองแบบนี้มีเทคนิคการผ่าตัดที่แตกต่างกัน และมีข้อดีข้อเสีย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ไม่เหมือนกัน
การปลูกถ่ายตับ จึงมีความเหมาะสมต่อโรค หรือภาวะตับแต่ละแบบต่างกัน โดยจะมีขั้นตอนการประเมินผู้ป่วย ก่อนพิจารณาผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะตับ ประกอบไปด้วย การตรวจสภาพการทำงานทั่วไปของร่างกาย การทำงานของหัวใจ การทำงานของปอด ตรวจประเมินสภาพการทำงานของตับ ลักษณะกายวิภาคและภาวะเนื้องอกหรือมะเร็งในตับ โดยตรวจเลือด อัลตราซาวนด์ตับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตับ หรือตรวจด้วยการถ่ายภาพโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตรวจประเมินคัดกรองหามะเร็งชนิดอื่นในร่างกาย ซึ่งอาจไม่เคยทราบหรือมีอาการมาก่อน เช่น การตรวจแมมโมแกรม เอกซเรย์ปอด ส่องกล้องตรวจลำไส้ (กรณีมีข้อบ่งชี้) เป็นต้น
รวมถึงการเจาะเลือดคัดกรองหาความผิดปกติของค่ามะเร็งต่างๆ เพราะกรณีที่มีมะเร็งชนิดอื่นในร่างกาย แล้วทำการปลูกถ่ายตับ หลังผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน จะทำให้มะเร็งดังกล่าว มีอาการหรือมีความรุนแรงมากขึ้นได้ ตรวจประเมินหาภาวะการติดเชื้อต่างๆ ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสเอชไอวี
รวมถึงการติดเชื้อที่อาจเป็นเรื้อรัง หรือไม่แสดงอาการ เพราะหลัง ปลูกถ่ายตับ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีโอกาสทำให้มีอาการหรือเป็นรุนแรงมากขึ้นได้ ตรวจคัดกรองสภาพฟันโดยทันตแพทย์ หากมีฟันผุต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อน และตรวจประเมินสภาวะทางจิตใจโดยจิตแพทย์เพื่อประเมินความสามารถในการดูแลรักษาตนเอง และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ ผู้ป่วยต้องหยุดดื่มสุราติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนก่อนผ่าตัด ยกเว้นกรณีภาวะตับวายเฉียบพลัน ต้องงดดื่มสุราหลังผ่าตัด เพราะการทำงานของตับหลังปลูกถ่ายจะลดลง และเกิดภาวะตับแข็งได้ถ้ากลับมาดื่มสุรา
เมื่อผู้ป่วยได้รับการประเมินต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาว่า ผู้ป่วยสามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะตับได้หรือไม่ หลังจากนั้นทางศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ จะดำเนินการกับทางสภากาชาดไทย เพื่อรอการจัดสรรอวัยวะตับเมื่อมีผู้บริจาคอวัยวะ และเนื่องจาก ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ และมีเลือดเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสเสียเลือดจำนวนมากระหว่างผ่าตัด อาจมีเลือดค้างในช่องท้อง แผลติดเชื้อหลังผ่าตัด จนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ขณะและหลังผ่าตัดปลูกถ่ายตับได้ เช่น
– ภาวะการปฏิเสธหรือต่อต้านตับใหม่ (Graft Rejection) เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจะมีการสร้างสารคัดหลั่งต่างๆ มาต่อต้านตับใหม่ที่ทำการปลูกถ่าย จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต เพื่อลดอัตราการเกิดภาวะดังกล่าว
– ภาวะตับไม่ทำงานหลังปลูกถ่ายตับ (Graft Nonfunction / Dysfunction) อาจเกิดขึ้นได้โดยอัตราการเกิดแตกต่างกันไปตามคุณภาพของตับและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ของการปลูกถ่ายตับ
– ภาวะเส้นเลือดตับอุดตัน เนื่องจากต้องมีการตัดและต่อเส้นเลือดของตับ จึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเส้นเลือดตับอุดตันได้ทั้งในเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงของตับ โดยอัตราการเกิดภาวะดังกล่าวจะแตกต่างกันตามชนิดของการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
– ภาวะทางเดินน้ำดีตับอุดตันหรือรั่วซึม เนื่องจากต้องมีการตัดและต่อท่อน้ำดีจึงมีโอกาสเกิดภาวะอุดตันหรือรั่วซึมได้หลังผ่าตัดคล้ายในกรณีเส้นเลือดตับอุดตัน
– ความเสี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบใหม่กรณีเป็นโรคไวรัสตับอักเสบก่อนผ่าตัด
การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ แม้จะมีกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาตามกระบวนการที่เหมาะสม จะได้รับผลการรักษาที่ดี กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังผ่าตัด และมีอัตราการรอดชีวิตที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายและทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อตับอยู่เสมอ ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถรักษาตับให้สุขภาพดีและอยู่กับเราไปได้อีกนาน