ผลวิจัยพบคนไทย ร้อยละ 76 มีพฤติกรรม เนือยนิ่ง หรือ ขี้เกียจ เน้นนั่ง 7 ชั่วโมงต่อวัน สูงกว่าที่ WHO กำหนดมาก โดยเฉพาะคุณผู้ชายในชนบท แนะต้องหากิจกรรมทำ “เบิร์น” แก้ยิ่งแก่ยิ่งเสี่ยงโรค
พบพฤติกรรมน่าห่วงในชายไทยเพิ่มขึ้น!! เรียกตามภาษาชาวบ้านง่ายๆ คล้ายๆ กับโรคขี้เกียจ แต่หากเป็นภาษาทางการแพทย์ พฤติกรรมนี้ เรียกว่า “เนือยนิ่ง” หมายถึง พฤติกรรมการนั่งเอนหลัง หรือนอนในขณะที่ตื่นนอนแล้ว หรือภาวะที่ต้นขาอยู่ขนานกับพื้นในขณะที่ตื่นนอน ร่างกายจะใช้พลังงานค่อนข้างต่ำเสี่ยงเป็นโรค
หมอสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายเรื่องนี้ว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในผู้ที่มีอายุ 18 – 80 ปี 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบ
- ร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน (ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ 150 นาทีต่อสัปดาห์)
- ร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ
“สาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น เปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ”
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า คนไทยมีการทดแทนการขยับร่างกายที่น้อยในการทำงาน ด้วยการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมนันทนาการในยามว่างแทน เฉพาะคนเมือง พบมีสัดส่วนกิจกรรมทางกายในนันทนาการ และการเดินทางมากกว่าคนชนบท เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ในการเข้าถึงสถานที่นันทนาการ โครงสร้างพื้นฐานในการเดิน อาทิ ทางเดินเท้า ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองดีกว่าชนบท ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ จะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น
“ผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงมีอัตราส่วนการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอมากกว่าผู้ชาย เป็นครั้งแรกที่พบปรากฎการณ์นี้ จากการสำรวจระดับกิจกรรมทางกายในประเทศไทย มากว่า 30 ปี แสดงถึงความตื่นตัวต่อการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน รวมถึงการออกกำลังกายในเพศหญิง ถือเป็นเรื่องที่ดี”
เสียงเตือนดังๆ ไปถึงพ่อบ้านในชนบท ต้องทำกิจกรรมในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ติดเนือยนิ่งมากจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ยิ่งแก่ตัวลงโรคต่างๆ จะถามหาไม่ขาด ต้องต้นไฟแต่ต้นลม เบิร์นในทุกรูปแบบ!!