การ นอนหลับ (Sleeping) เป็นกิจวัตรที่สำคัญต่อการดูแลสุขภาพ เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารที่ดี และการออกกำลังกาย เนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันนอนหลับโลก (World Sleep Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา TOPPIC Time จึงมีข้อมูลดีๆ มาเล่าต่อ
รู้ลึก นอนหลับ นอนไม่หลับ ดีร้ายอยู่ที่ สุขภาพ
คุณรู้หรือไม่? ในปีที่ผ่านมาการ นอนไม่หลับ เป็นหนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนไทย ถึงประมาณ 19 ล้านคน และกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกเลย การ นอนหลับ ที่มีคุณภาพ ควรมีระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ รู้สึกสดชื่นในวันรุ่งขึ้น ซึ่งระยะเวลาการนอนที่เหมาะสม จะแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยวัยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมงทุกคืน ไม่ตื่นระหว่างการนอนหลับรวมกันมากกว่า 20 นาที อีกทั้งมีประสิทธิภาพการนอนโดยรวมที่ดี เพื่อเข้าสู่กระบวนการหลับลึกได้ดีขึ้น
ฮอร์โมนชะลอความแก่ จะหลั่งตอนที่เรา นอนหลับ
โดยช่วงการ นอนหลับ ความถี่ของคลื่นสมองจะลดลง อยู่ในช่วงคลื่นเดลต้า เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด ความถี่ประมาณ 0.5-4 รอบต่อวินาที เป็นช่วงที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนชะลอความแก่ ที่ช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย
นอนหลับ เท่ากับ การกำจัดของเสียออกจากสมอง
นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) กล่าวว่า การ นอนหลับ เป็นรากฐานของการมี สุขภาพ ดี เพราะมีส่วนสำคัญต่อการกำจัดของเสียออกจากสมอง เนื่องจากสมองไม่มีระบบน้ำเหลือง ดังนั้น สมองจึงกำจัดของเสียด้วยกระบวนการชำระล้างสมอง
นอนหลับลึก ป้องกัน โรคอัลไซเมอร์ ได้
กระบวนการดังกล่าวต้องทำในช่วงที่ นอนหลับ และจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในช่วงของการนอนหลับลึก เพราะในช่วงดังกล่าวเซลล์ในสมอง จะหดตัวลงไป 60% ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อการชำระล้างของเสียสำคัญ ที่ถูกกำจัดจากสมองคือ ß-amyloid เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ amyloid plaque สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอัลไซเมอร์
นอนหลับ ทำสมองเชื่อมโยงความทรงจำได้ดีขึ้น
รวมทั้งการนอนหลับลึก มีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ ความจำ ภาษา จนถึงการแสดงออกของพฤติกรรม และอารมณ์ การนอนหลับลึก ช่วยจัดเรียงความทรงจำในสมองให้ดีขึ้น เชื่อมโยงความทรงจำเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน
ทำไมผู้สูงอายุ ถึงมีปัญหาเรื่อง ความจำ ??
หากอดนอน ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลงมากถึง 40% รูปแบบของการนอนจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี จะสูญเสียการหลับลึกไปมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับคนอายุ 18-25 ปี นี่คือสาเหตุว่า ทำไมผู้สูงอายุ จึงมีปัญหาในเรื่องความจำ
ภูมิคุ้มกันลด หากนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง
และในระหว่างการ นอนหลับ ร่างกายจะมีการหลั่งโปรตีน ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ เพื่อต่อสู้กับเชื้อก่อโรคต่างๆ เช่นเดียวกับการบันทึกความทรงจำในสมอง การนอนหลับช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำ และจำแนกสิ่งแปลกปลอมได้ และหากนอนหลับน้อยกว่า 4 ชั่วโมง การทำงานของเซลล์เพชฌฆาต หรือ Natural Killer Cells (NK Cells) จะลดลงมากถึง 72% รวมไปถึงการสร้างแอนติบอดี้ ซึ่งมีคุณสมบัติต่อต้านสิ่งแปลกปลอม ก็ลดลงด้วยเช่นกัน
นอนหลับ น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ทำให้อ้วนได้
ผู้ที่ นอนหลับ น้อยกว่า 5 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากขึ้น 1.55 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเลปติน หรือฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มลดลง ในทางตรงกันข้าม ฮอร์โมนเกรลิน (ฮอร์โมนกระตุ้นความหิว) และ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) เพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้ผู้ที่นอนน้อยเกิดความอยากอาหารมากขึ้น มีแนวโน้มจะรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน
นอนหลับไม่ดี โรคร้ายตามมาเป็นแพ็คเก็จ
นอกเหนือจากความเสี่ยงของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นแล้ว หากนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง จะเกิดการเพิ่มขึ้นของสารอักเสบต่างๆในร่างกาย เช่น TNF-alpha, IL-6 เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases หรือ NCDs) ต่างๆ ผู้ที่นอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมง มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 1.48 เท่า ความดันโลหิตสูง 1.32 เท่า และโรคหัวใจ 1.37 เท่า รวมถึงการนอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมง เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 2.22 เท่า โรคมะเร็งตับอ่อน 2.18 เท่า โรคมะเร็งหลอดอาหาร 1.63 เท่า เนื่องจากการทำงานของ NK-cell ลดลง ซึ่งที่มีหน้าที่สำคัญในการต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง
นอนกรน อาจไม่ใช่เรื่องปกติ
จะเห็นได้ว่า การ นอน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก หาก นอนหลับ อย่างไม่มีคุณภาพ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอย่างไม่คาดคิด สำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ อาทิ นอนกรน อย่าปล่อยให้การนอนกรน เป็นเรื่องเคยชิน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะคิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องปกติ ควรตรวจเช็กคุณภาพการนอนเพื่อค้นหาสาเหตุการนอนหลับ ซึ่งที่ BDMS Wellness Clinic มีโปรแกรมตรวจคุณภาพการนอนหลับ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ที่วิเคราะห์ผลการตรวจและแก้ไขปัญหาการนอนหลับอย่างตรงจุด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับบริการกลับมานอนหลับได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง เพราะคุณภาพการนอนเป็นเรื่องที่สำคัญ ช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมี สุขภาพ ที่ดีอีกด้วย