เตือนผู้ปกครองระวังเด็กๆ รับประทาน ขนมกัญชา ขนมผสมกัญชาแบบไม่รู้ตัว พบขนมประเภทคุ้กกี้ลักลอบนำเข้า ไม่มีเครื่องหมาย อย. มีปริมาณ THC สูงถึง 600 มิลลิกรัม จนป่วยหนัก และอาจถึงชีวิตได้
เศรษฐกิจเริ่มฟื้น หลังนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยต่อเนื่อง หลายบริษัทฟื้นคืนชีพ รายได้เป็นกอบเป็นกำ ไอเดียผุดทำเงินกระฉูด เรื่องการกินเป็นปัจจัย 4 ที่ไม่มีใครปฏิเสธ การนำเข้า-ลักลอบนำเข้า น่าจะง่ายและทำเงินได้ดีที่สุดในยามนี้
อาหารรูปแบบแปลกๆ จึงมีให้เห็น รวมไปถึงอาหารผสมกัญชาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบลิมลอง ตลอดจนของกินเล่น ขนมสำหรับเด็กๆ “คุกกี้ช็อกโกแลต” เป็นเคสที่พบว่ามีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย ในพื้นที่ภาคใต้ และหลายๆ พื้นที่
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล เผยว่า กรณีปรากฎข่าว มีเด็กรับประทานคุกกี้ช็อกโกแลตที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย(ผสมกัญชา) แล้วมีอาการเจ็บป่วยหนักที่โรงพยาบาลในภาคใต้ โดย อย. ได้ตรวจสอบภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบข้อมูลระบุ “Twix Chocolate sand THC 600 MG PER BAG PER 2 COOKIES”
“ไม่พบข้อมูลการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์ และ อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสืบหาข้อเท็จจริง ไม่พบการนำเข้า ณ ด่านอาหารและยา แต่อย่างใด รวมถึงจากการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางร้านค้าตลาดออนไลน์ ก็ไม่พบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คาดว่าเป็นการลักลอบนำเข้า”
ล่าสุด เพจดังโพสต์ เพิ่งเจอเคสกับตัวเองที่กลางใจเมืองกรุงเทพ เด็กอนุบาลไปซื้อขนมร้านค้ากิน ผ่านไปแค่ประมาณไม่ถึงชั่วโมง เด็กมีอาการอ้วกรัวๆ แล้วก็หมดสติไปเลย สังเกตมุมซ้ายล่างของซองเขียนไว้ตัวเล็กๆ ว่า THC600mg ซึ่งคือกัญชา หากใส่ในปริมาณที่มาก กินหลายชิ้นเด็กมีโอกาสเสียชีวิตได้ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะขนมมีขายกันตามชุมชน เด็กๆ เข้าถึงได้ง่าย จึงฝากไปถึงผู้ปกครอง ต้องย้ำเตือนถึงเด็กๆ อย่ากินของที่ไม่รู้จัก หรืออะไรแปลก หากไม่แน่ใจให้ถามก่อนกิน
ข้อพิจารณา :
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายจัดเป็นอาหารที่ต้องได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร ซึ่งต้องผ่านการประเมินความปลอดภัย โดยมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค (THC ต้องไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อขวด/กล่อง/ซอง) และเข้มงวดในการพิจารณาสูตรส่วนประกอบ รวมทั้งผลตรวจพิสูจน์ปริมาณ THC กำหนดให้ฉลากผลิตภัณฑ์แสดงข้อแนะนำการบริโภคเพื่อความปลอดภัย เช่น” ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ (ขวด/กล่อง/ซอง)” และแสดงข้อความคำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ได้แก่ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตต้องมีความปลอดภัย และมีผลวิเคราะห์ยืนยันปริมาณ THC ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ อย. ได้ดำเนินแผนเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังคุณภาพและการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และดำเนินคดีกับผู้ผลิตอาหารผิดมาตรฐาน