วัคซีนโควิดสัญชาติไทย “จุฬา-ใบยา” วัคซีนใบยาสูบ เตรียมทดสอบในคนเฟส 1 เริ่มต้น ก.ย.นี้ วิเคราะห์รับ 10 สายพันธุ์สู้โควิด…
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิต วัคซีนโควิด 19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ
ทั้งนี้ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ ก.พ. 63 ทดสอบในหนูทดลองและลิง พบว่า…ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี สธ.โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงสนับสนุนงบ 160 ล้านบาท ให้แก่จุฬาฯ และบริษัทฯ ปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบ
เริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรีย พาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์
วัคซีนจุฬา-ใบยา หรือวัคซีนใบยาสูบ จะเริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 ช่วงต้นเดือน ก.ย. เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังดำเนินการใน 10 สายพันธุ์ หากสำเร็จ อนาคตอาจจะเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่สามารถใส่หลายสายพันธุ์ลงไปในวัคซีนได้ ทำให้การป้องกันสามารถจะทำได้สูงขึ้น.