กลุ่ม LGBTQ+ สามารถเบิกการ ผ่าตัดแปลงเพศ ตามสิทธิ “บัตรทอง” ได้หรือไม่?? สปสช.แจงมีสิทธิตั้งแต่ปี 2561 แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจน แพทย์เป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่เพื่อความเสริมสวย เตรียมออกแพ็กเกจให้ชัด ป้องกันปัญหางบประมาณ
ผ่าตัดแปลงเพศ กลุ่ม LGBTQ+ เบิกได้-ไม่ได้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กล่าวถึงกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQ+ ระบุว่า…
“การผ่าตัดแปลงเพศ อยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว เพราะไม่ได้มีข้อยกเว้นเอาไว้ แต่ก็มีประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปีที่แล้ว เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 กำหนดไว้ชัดเจนว่า การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ครอบคลุมหรือเบิกไม่ได้”
– หากเป็นกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า สามารถทำและใช้สิทธิได้
– เคส LGBTQ+ ที่ผ่านๆ มา พบว่า โรงพยาบาลจะมีแต่การเบิกในเรื่องของการ ผ่าตัดแปลงเพศ กรณีเพศกำกวมแต่กำเนิด ปีละประมาณ 100 กว่าราย
– ไม่เคยเบิกกรณีผ่าตัดแปลงเพศกลุ่ม LGBTQ+
– รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ส่งเข้ามาเบิก 1 ราย ผ่าตัดแปลงเพศกลุ่ม LGBTQ+ เมื่อปีที่แล้ว
ผ่าตัดแปลงเพศ LGBTQ+ มีรายละเอียด หลากหลายมิติ
– กลุ่ม LGBTQ+ ในอดีต จะมองว่าเป็นความผิดปกติ (Disorder)
– แต่ปัจจุบันผู้เรียกร้องมองว่า ไม่ได้เป็นเรื่องความผิดปกติ แต่เป็นลักษณะของเพศสภาพไม่ตรงกับจิตใจและร่างกาย
– หากแพทย์มองว่า ปล่อยทิ้งไว้ กลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ความเป็นอยู่จะพิจารณาทำให้
– ขึ้นอยู่กับแพทย์มองว่า เป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หากต้องทำก็ทำได้ มีระบบให้รองรับการเบิกอยู่แล้ว ตามระบบ DRG
“การ ผ่าตัดแปลงเพศ ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะมองเหมือนเสริมสวย แต่ถ้าจำเป็นในทางการแพทย์ก็จะอยู่ในสิทธิประโยชน์ จึงขึ้นกับแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อป้องกัน ไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรก็ได้ ตรงนี้มีความชัดเจนขึ้น ตัวระเบียบใหม่ที่ประกาศสิทธิประโยชน์ กรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็สามารถเบิกได้” เลขาฯ สปสช.กล่าว
ผ่าตัดแปลงเพศ LGBTQ+ ใช้งบสูง ต้องเคลียร์ให้ชัด
– การผ่าตัดแปลงเพศราคาสูง เพราะมีการทำหัตถการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย สิทธิประโยชน์จะต้องครอบคลุมทั้งหมด ต้องมาหารือเรื่องราคา
– ขณะนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ และสมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ ได้ทำคู่มือออกมา มีประมาณ 8-9 หัตถการที่ต้องทำ เช่น ตัดกราม ผ่าตัดใบหน้า ผ่าตัดหน้าอก ผ่าตัดอวัยวะเพศ เป็นต้น
– แต่ละหัตถการจะแยกเป็น 1 DRG ในการเบิกแยกกัน
– กำลังให้ทำเป็นแพ็กเกจทั้งหมด แล้วประกาศให้ชัด คาดประมาณ 1-2 เดือนจะแล้วเสร็จ
กลุ่ม LGBT+ ในไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
LBGT Capital ได้เคยประมาณการณ์ กลุ่ม LGBTQ+ พบว่าในปี 2562 ชาวไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีประมาณ 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งหมด หมายรวมถึงชาวต่างชาติกลุ่ม LGBTQ+ ที่อาศัยอยู่ในไทยด้วย และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสังคมที่เปิดกว้าง การยอมรับ และกล้าแสดงออก รวมถึงการออกกฎหมายที่จะตามมา.