บรรจุ โรบอท เพื่อการรักษาตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ผ่าตัด-รักษาผู้ป่วยมะเร็ง-ฝังแร่ และรักษาด้วยรังสีโปรตรอน ขณะที่ โรบอท เข้ามาในวงการแพทย์ของไทย ตั้งแต่ปี 2550
การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเพิ่มเติม นอกเหนือจากการรักษาด้วยรังสีโปรตอน ซึ่งเป็นบริการสาธารณสุขที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุด และมีความแม่นยำสูงมาก ใช้รักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งสมอง ข้อดีคือ รังสีจะทำลายก้อนมะเร็ง แต่จะไม่ทำอันตรายกับเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบก้อนมะเร็ง ใช้หุ่นยนต์โรบอทในการผ่าตัด
ดัน ‘โรบอท’ สิทธิประโยชน์เป็นของขวัญปีใหม่
– การรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา (Plaque brachytherapy)
– การรักษามะเร็งโดยการใช้หุ่นยนต์โรบอท ในการผ่าตัด (Robotic Surgery) ในโรคมะเร็ง 3 รายการ คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี ทั้งหมดนี้เดิมไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
– บริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพแก่คนไทยในต่างประเทศทั่วโลกผ่านระบบ Telemedicine โดยให้คำแนะนำ คำปรึกษาและคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้น โดยแพทย์คนไทย ย้ำคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลจัดให้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงอย่างแท้จริง
เผย ‘โรบอท’ ผ่าตัดครั้งแรกในไทย
ตามข่าวที่ปรากฎ โรงพยาบาลศิริราช ได้ใช้หุ่นยนต์ โรบอท ช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic Surgery) รุ่น Da Vinci S ประกอบด้วย console (ชุดควบคุมหรือสั่งการ) และ surgical cart (ตัวหุ่นยนต์) มีแขน 4 แขน โดย 1 แขน ทำหน้าที่ถือกล้องที่มีคุณภาพสูง และอีก 3 แขน ใช้ในการผ่าตัด แพทย์จะควบคุมการผ่าตัด โดยนั่งที่ชุดควบคุมมองผ่านภาพ 3 มิติ และถ่ายทอดสัญญาณไปยังแขนของหุ่นยนต์ จะมีเครื่องมือเล็กยาวผ่านรูที่เจาะผ่านเข้าช่องท้องและทำการผ่าตัดอย่างที่แพทย์ต้องการ เช่น กรีด ตัด หรือเย็บเนื้อเยื่อ โดยเครื่องมือกลจะเคลื่อนไหวตามการหมุนของมือแพทย์ผ่าตัดที่ควบคุมอยู่ที่ชุดควบคุม เหมือนการเอามือเข้าไปผ่าตัดในช่องท้องอย่างอิสระ
ข้อดี ‘โรบอท’ ช่วยในการผ่าตัด
– โรบอท ถือเป็นมือกลผ่าตัด ที่มีความแม่นยำสูงกว่า
– โรบอท ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า
– มีโอกาสเสียเลือดน้อยกว่าและผลการผ่าตัดน่าจะดีกว่า
ต่อมา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสบความสำเร็จในการใช้ โรบอท ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559.