โรคซึมเศร้า!! คนไทยป่วยมากเพิ่มขึ้น ป่วยแบบไม่รู้ตัว เศร้าแบบไร้เหตุผล เช็กด่วน 9 อาการที่เข้าเครือ แค่เข้า 5 อาการก็เสี่ยงแล้ว อันตรายถึงทำร้ายตัวเองถึงชีวิต หมอแจงชัด “เซ็กส์” ไม่ได้ช่วยแก้โรคซึมเศร้า
โรคยอดฮิต ที่พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นแบบทันตั้งตัวในปัจจุบัน บางคนก็ยังไม่รู้ตัวว่า เป็น หรือไม่ หรือกระทั่งบางคนก็นำใช้เป็นข้ออ้าง ในโอกาสที่เกิดความผิดพลาดจากงาน ทั้งหมดนี้ วันนี้ TOPPIC Time ขอนำข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เผยแพร่ให้คนในสังคมปัจจุบันได้เรียนรู้ เพื่อตั้งรับและแก้ไข เมื่อได้รับรู้สาเหตุของต้นตอหลายปัญหาที่ คนในสังคมกำลังแบก-เผชิญ
โรคซึมเศร้า ร้ายกว่าที่คิด
โรคซึมเศร้า มีผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่กลับไม่รู้จักโรคนี้ บางคนเป็นโดยที่ตัวเองก็ไม่ทันรู้ตัว หรือบางคนคิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเอง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที โรคซึมเศร้า ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งทางร่างกายและจิตใจได้มากทีเดียว ไม่ว่า รู้สึกเบื่อหน่าย เศร้า วิตกกังวล มีปัญหาเรื่องการทานอาหาร รวมไปถึงการนอนหลับ ร้ายแรงสุดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้า เกิดจากอะไร?
โรคซึมเศร้า หรือ Major depressive disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ อย่างถูกวิธี
9 พฤติกรรม เข้าข่ายโรคซึมเศร้า
- เศร้า-เบื่อ หรือหงุดหงิดง่าย โดยมีความรู้สึกเหล่านี้วนเวียนมาอยู่เป็นประจำ เกือบทุกวัน
- ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา อ่านหนังสือ ดูละคร ดูทีวี หรือทำได้แต่รู้สึกไม่สนุกเหมือนเคย
- เบื่ออาหาร หรือกินมากจนเกินไป บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร
- มีปัญหาเรื่องการนอน อาจมีอาการนอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หลับยากหรือตรงกันข้ามบางคนอาจจะรู้สึกง่วงเพลียจนอยากนอนทั้งวันก็เป็นได้
- ทำอะไรช้าลง กระสับกระส่าย กระวนกระวายอย่างเห็นได้ชัดเจน
- เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรงที่จะทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- รู้สึกไร้ค่า ทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง หรือเอาแต่โทษตัวเองในทุก ๆ เรื่อง
- สมาธิสั้น ความจำแย่ลง ทำให้มีอาการเหม่อลอยหรือใจลอยบ่อย ๆ จนทำให้มีปัญหาด้านการตัดสินใจ และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเคย
- คิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง หรือรู้สึกว่าชีวิตมืดมนไปหมดจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ และอาจร้ายแรงไปจนถึงการฆ่าตัวตาย
มี 5 อาการ+ เข้าภาวะโรคซึมเศร้า
แพทย์ระบุว่า หากผู้มีอาการตรงกับพฤติกรรมข้างต้น ตั้งแต่ 5 อาการขึ้นไป หรือมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรจะเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์โดยด่วน เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที แก้โรคซึมเศร้า
– การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มจากการพูดคุยสอบถามอาการ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
– พิจารณาว่าความรุนแรงในระดับไหน
– อาจจะมีการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาร่วมด้วย เพื่อนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาโดยใช้จิตบำบัด หรือการรักษาด้วยยา เป็นต้น
‘เซ็กส์’ ไม่ได้แก้โรคซึมเศร้า
เกิดปมความเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่มีการระบุว่า “ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหมอแนะนำให้มีเซ็กส์” นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคม สมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุ ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ หากรู้ว่าผู้ป่วยยังไม่ได้แต่งงาน โรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลย์ของสารสื่อประสาทในสมอง ที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพร่างกาย จะแตกต่างจากอารมณ์เศร้าตามปกติที่หายได้เองเมื่อความเครียดหมดไป
“เซ็กส์ หรือมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่การรักษาโรคซึมเศร้าแน่นอนทางการแพทย์ เพราะเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ควรมีอย่างสมดุล มีเซ็กส์ เปรียบเสมือนการออกกำลังกาย ช่วยลดความเครียด ช่วยให้อารมณ์ดี นอนหลับดีขึ้น”
วิธีปรับอารมณ์แก้โรคซึมเศร้าเบื้องต้น
– หมั่นมีปฏิสัมพันธ์ เข้าสังคมกับคนรอบข้าง
– สร้างเป้าหมายชีวิต
– หมั่นเรียนรู้ควบคุมการปรับอารมณ์
– หากมีอาการรุนแรง ต้องไปหาหมอ ให้ยาปรับในเรื่องสารสื่อประสาทในสมอง
– รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาการจะดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูล : อ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล