รหัสร้ายโควิด 19 โอมิครอน JN.1 ขยายเผ่าพันธุ์ไม่รู้จบ พบกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเป็น 2 ตำแหน่ง ในรูปแบบ “SLip” จับตาความรุนแรง คาดจะเป็นสายพันธุ์หลัก (JN) ระบาดในไทยช่วงต่อไป ขณะตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่ม…
จับตาโควิด 19 โอมิครอน JN 1 รุ่นลูกหลาน ขยายตัวไม่จบสิ้น
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี รายงานว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรม โควิด 19 ทั้งจีโนมที่แชร์บนฐานข้อมูลโควิด 19 โลก “จีเสส (GISAID)” โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่างๆ พบว่า
– การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์ EG.5.1 ประมาณ 244 ราย และ JN ประมาณ 15 ราย
– คาดว่า JN จะระบาดเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ที่เป็นสายพันธุ์หลักของไทยในขณะนี้
ทั้งนี้ โควิด 19 โอมิครอนในสายของ EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามสองตำแหน่งติดกันคือ “L455F” และ “F456L” มักเรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า Flip ส่งผลต่อความสามารถของไวรัส ในการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ได้ดีขึ้น พร้อมกับหลบเลี่ยงการเข้าจับและทำลายจากแอนติบอดี ที่ผลิตโดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ จากการรับการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ
รหัสร้าย โอมิครอน ขยายสายพันธุ์ใหม่
– โควิด 19 โอมิครอนในสายของ JN เดิมมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพียงตำแหน่งเดียว คือ L455S แต่ก็ส่งผลให้มีการระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ EG.5.1
– เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของ XBB ในสหรัฐอเมริกา JN.1 กลายเป็นสายพันธุ์หลัก 61.6% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่ระบาด (6 ม.ค. พ.ศ. 2567)
– จากนั้นในเดือนมกราคม 2567 ยังพบ JN (JN.1, JN.1.1, JN.1.1.1) มีการกลายพันธุ์เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง รวมเป็นสองตำแหน่งคือ L455S และ F456L พบผู้ติดเชื้อรายแรกในฝรั่งเศส
– ขณะนี้พบแล้วทั่วโลกจำนวน 41 ราย เรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า “SLip” ของโควิด 19
– ยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation จะส่งผลให้มีการระบาดที่รวดเร็วและเจ็บป่วยรุนแรง เพิ่มขึ้นไปจาก JN.1 สายพันธุ์เดิม ที่ส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียว (L455S) หรือไม่
– ประเทศไทยยังไม่พบโควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์แบบ SLip
ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี กำลังเฝ้าติดตามสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation ในบรรดาผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ในประเทศไทย
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์แบบ “SLip” คล้ายกับ “FLip” แต่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของซีรีน (S) แทนที่จะเป็นฟีนิลอะลานีน (F) บริเวณส่วนหนามที่ตำแหน่ง 455 ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบ L455S และ F456L
ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่ม – โรคลองโควิด
กรมควบคุมโรคติดต่อ รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 7 – 13 มกราคม 67
– ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 625 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 89 ราย/วัน (ผู้ป่วยปอดอักเสบ 177 ราย, ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 125 ราย)
– ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 7 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน
– ผู้ป่วยสะสม 625 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
– เสียชีวิตสะสม 7 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
ก่อนหน้านี้ กองระบาดวิทยา ได้เปิดอาการแพ้วัคซีน โควิด 19 มากที่สุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ, หลอดเลือดหัวใจ, เลือดออกในสมอง, ลิ่มเลือดอุดตัน และผู้ป่วยหลายคนยังเผชิญอาการลองโควิด-19 ด้วย
ข้อมูล : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ – Center for Medical Genomics