นักเรียนไทยติดบุหรี่ไฟฟ้างอมแงม สถิติคนสูบ 2 ปีเพิ่ม 10 เท่า จาก 7.8 หมื่นคน ปี 2564 เป็น 7 แสนคน ปี 2565 อายุ 13-15 ปี เสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2.2 เท่า สาเหตุระบาดแรง ใช้สารเสพติดนิโคตินสังเคราะห์ เติมได้ไม่จำกัด ปรุงแต่งกลิ่นดึงดูดใจเด็กรุ่นใหม่ กว่า 1.6 หมื่นชนิด จี้คุมเข้มเอาผิดตามกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดประชุมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประธาน พร้อมผู้แทนภาคีเครือข่าย หลังพบว่า ผู้คนในสังคมยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่าน การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก เพิ่มสิงห์อมควันเกลื่อน
– จำนวนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มคนทั่วไป (อายุ 15 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 7.8 หมื่นคนในปี 2564 กลายเป็น 7 แสนคนในปี 2565 หรือเพิ่มถึงสิบเท่า
– อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย (อายุ 13-15 ปี) ได้เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2564 เป็น 17.6% ในปี 2565
– ยอดขายบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม มีอัตราต่ำลงทั่วโลก ผลจากการรณรงค์ถึงโทษและพิษภัย
– บุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการนักสูบ เชื่อว่า มีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน
– ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้มีความปลอดภัย
– บุหรี่มวนใช้เวลาราว 30-50 ปี เริ่มมีรายงานการก่อโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
– บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงไม่เกิน 15 ปี ขณะนี้มีรายงาน เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2.2 เท่า
ปรุงแต่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ‘หอม – หวาน’ กว่า 16,000 รสชาติเอาใจเด็ก
“อย่างเดียวที่ บุหรี่ไฟฟ้า เคลมแล้วเป็นจริง คือ ไม่มีสาร ทาร์ หรือน้ำมันดินที่เกิดจากการเผาไหม้แบบบุหรี่มวน แต่สารเคมีที่เหลืออีกกว่า 7,000 ชนิด มีเท่าเทียมกัน ซ้ำร้าย บุหรี่ไฟฟ้า กลับมีนิโคตินสังเคราะห์ ที่ร่างกายดูดซึมได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น และเติมได้ไม่จำกัด และสิ่งสำคัญ คือการปรุงแต่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จนมีความหอม หวาน มีรสชาติมากกว่า 16,000 ชนิด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกเลือกสูบ และยังสามารถทำให้เสพติด ไม่พบว่าช่วยในการเลิกบุหรี่มวนได้แต่อย่างใด”
กฎหมายคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม บุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศไทยมี 4 ฉบับ
- ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดในเรื่องของการห้ามนำเข้า
- คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 กำหนดห้ามขาย และห้ามให้บริการ
- พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ห้ามนำเข้า และห้ามครอบครอง
- พ.ร.บ.ควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ มีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก
“สถานะทางกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้า สามารถเทียบเคียงได้กับการเป็นยาเสพติด ทั้งการห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ รวมถึงห้ามครอบครอง แต่กลับครอบครองในคนทั่วไปได้ จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมาย และพิษภัย”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ
“เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่เอาบุหรี่มวน แต่กระโจนเข้ามาสู่การใช้บุหรี่ไฟฟ้า ด้วยความไม่รู้ถึงพิษภัย และด้วยเพราะการตลาด ผลสำรวจเด็กนักเรียนชั้นมัธยมในประเทศไทยพบว่า จำนวน 35% ไม่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบ และ 40% ไม่เชื่อว่าทำให้เกิดหัวใจวาย ทั้งที่ได้ผลพิสูจน์ทางการแพทย์และมีรายงานออกมาแล้ว ฉะนั้นการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ที่ถูกต้อง”
เร่งรณรงค์ให้เห็นถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า
- บูรณาการการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัยและการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในระบบการศึกษาแต่ละระดับ
- ร่วมกันเผยแพร่ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นแบบอย่างของการไม่สูบ
- เฝ้าระวังเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อต่างๆ
- ปราบปราม บุหรี่ไฟฟ้า อย่างจริงจัง ทั้งขายในสถานที่และในระบบออนไลน์ พร้อมติดตามสืบหาต้นตอของผู้กระทำความผิด
- เสนอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
- เฝ้าระวังและเปิดโปงกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ พร้อมป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบผ่านช่องทางต่างๆ
- ควบคุม ปราบปราม ดำเนินการทางกฎหมายต่อร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้า
- ร่วมกันสื่อสารให้เครือข่ายในทุกระดับตระหนัก ร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า