อากาศร้อนๆ แบบนี้ ระวัง “ฮีทสโตรก” กันนะ! โรคนี้ไม่ใช่แค่ลมแดดธรรมดา แต่เป็นภัยเงียบที่อาจคร่าชีวิตได้เลย โดยสาเหตุหลักของฮีทสโตรกมาจากอากาศที่ร้อนจัด บวกกับความชื้นสูง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ วันนี้ TOPPIC Time จะมาบอกวิธีป้องกันการเกิด “ฮีทสโตรก” หรือว่าโรคลมแดดกัน
สาเหตุเกิด “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด
นายแพทย์จิรภัทร โล่ห์ประธาน อายุรแพทย์เวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน โดยเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ทัน จนส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง
อาการของ “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด
อาการของ “ฮีทสโตรก” จะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น จนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ได้แก่ ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน รู้สึกกระหายน้ำมาก หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าหากมีอาการเหล่านี้จะต้องหยุดพักทันที ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อทดแทนภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าพบผู้มีอาการโรคฮีทสโตรกสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายโดย นำผู้มีอาการเข้ามาในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หลังจากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามฝืนตัวเองเด็ดขาด เพราะจะทำให้นำไปสู่การเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ชัก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยง “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด
กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรค “ฮีทสโตรก” ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น นักกีฬา ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจโรคอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แนวทางป้องกัน “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด
นายแพทย์จิรภัทร กล่าวถึงแนวทางการป้องกัน “ฮีทสโตรก” ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน
2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง
3. เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง
4. ดื่มน้ำให้มากขึ้นและเพียงพอในแต่ละวัน กรณีออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้วทุกชั่วโมง และสวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าเบาบาง ระบายอากาศได้ดี และไม่รัด
หากรู้ตัวว่าจะต้องไปอยู่ในที่อากาศร้อนควรป้องกันตัวเองจากแสงแดดโดยสวมใส่แว่นกันแดดหรือหมวก ส่วนใหญ่แล้ว “ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคลมแดดที่ถูกต้อง.