“LGBTQ” ในไทยมีกี่คนกันนะ? TOPPIC Time ก็อยากรู้เหมือนกัน นี่คือการสำรวจครั้งแรกในไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจมาแล้วในปี 2562 แต่ก็ไม่สามารถรวบรวมออกมาเป็นตัวเลขได้ เนื่องจากบางคนมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล ล่าสุด สสส. จับมือ ม.มหิดล – สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดโครงการสำรวจขนาดประชากร-สถานการณ์ชีวิตและสุขภาพ LGBTQ+ โดยจะเริ่มสำรวจในเดือน มิ.ย.-ก.ย นี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดโครงการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศ และสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTQ+ ครั้งแรกในไทย โดยเชิญภาครัฐ ภาคประชาชน กลุ่มตัวแทน “LGBTQ” แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประชากรกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ
โดยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการทำงานเรื่องสุขภาวะคนทุกกลุ่มที่อยู่ในไทย แต่ยังขาดข้อมูลประชากรและสถานการณ์ของกลุ่ม “LGBTQ” ที่ชัดเจนและทันสถานการณ์ ซึ่งการไม่ถูกมองเห็นทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาวะในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะความรอบรู้เรื่องสุขภาพ ทั้งนี้ การมีข้อมูลด้านประชากรของคนกลุ่มนี้ที่ชัดเจน จะเอื้อให้ สสส. ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการหรือช่วยแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้ได้
“การสำรวจขนาดประชากรของกลุ่ม LGBTQ+ ครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาวะ ด้านร่างกาย จิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่ รูปลักษณ์ ความสัมพันธ์ การตีตราและการถูกเลือกปฏิบัติ ที่น่าเชื่อถือ แม่นยำ สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลพัฒนานโยบาย และมาตรการทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ หรือใช้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับ “LGBTQ” ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและเศรษฐกิจ อัตราความชุกของการเลือกปฏิบัติ และผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้นำชุดข้อมูล และตัวเลขกลาง ไปอ้างอิงในการทำงานขับเคลื่อนตามลักษณะเฉพาะ ทั้งสามารถวางแผนจัดสรรทรัพยากร ออกแบบโครงการ และบริการที่ตรงความต้องการ ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิการ สร้างหลักประกันชีวิตและสุขภาพที่เป็นธรรม” นางภรณี กล่าว
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ไทยยังไม่เคยมีการคาดประมาณขนาดประชากรกลุ่ม “LGBTQ” อย่างเป็นระบบมาก่อน ในฐานะที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชี่ยวชาญด้านคาดประมาณประชากร ได้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐาน โดยจะใช้การสำรวจ 2 ลักษณะ คือ สำรวจประชากรทั่วไปอย่างเป็นระบบใน จ.ราชบุรี 2,400 ครัวเรือน และการสำรวจเชิงพื้นที่นำร่องในสถานศึกษา 3 ระดับ ใน จ.นครปฐม 1,100 คน อายุระหว่าง 15-25 ปี โดยพิจารณาจากความพร้อม และศักยภาพพื้นฐานของจังหวัด ที่มีลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจในระดับกลาง ไม่มีลักษณะเฉพาะที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นพื้นที่ที่มีประชากร LGBTQ+ มากหรือน้อยไปจากจังหวัดอื่น ๆ และจะเปิดการสำรวจออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไป อายุ 15 ปีขึ้นไป เข้าไปตอบแบบสำรวจด้วยตัวเอง จำนวน 1,500 คน ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย. นี้
“เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลหลัก คือแบบสอบถาม โดยจะสำรวจครัวเรือนเพื่อทำการแจงนับบุคคลทุกคนในครัวเรือน และครัวเรือนใดที่พบว่ามีบุคคลเป็นคนหลากหลายทางเพศ จะขอสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามรายบุคคลที่มีคำถามครอบคลุมถึงสถานการณ์ชีวิตด้านต่าง ๆ ทั้งความรอบรู้ด้านสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตด้านเพศ ทั้งในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ รสนิยม และความรู้สึกดึงดูดใจด้านเพศ การมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประชากร LGBTQ+ เป็นความจำเป็นข้อแรก ๆ ของการสร้างสังคมที่ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ และเท่าเทียมกันมากขึ้น” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว
นางกาญจนา ภู่มาลี ผู้อำนวยการกองนโยบายและวิชาการสถิติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยไม่มีตัวเลขประชากรกลุ่ม “LGBTQ” ที่เป็นทางการ เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ ส่วนมากยังถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดนำไปใช้อ้างอิง หรือขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่าง ๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยพยายามสำรวจผู้มีความหลากหลายทางเพศในปี 2562 ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการนำร่องศึกษาแนวทางการเก็บข้อมูลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเพิ่มข้อถามเรื่องเพศ 1 ข้อ ในแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสอบถามหัวหน้าครัวเรือน หรือสมาชิกในครัวเรือน ตอบคำถามถึงลักษณะทางประชากร สังคม เศรษฐกิจของสมาชิกในครัวเรือนทุกคน จึงได้ตัวเลขประชากรกลุ่ม LGBTQ+ 0.7% และในกลุ่มอายุ 15-20 ปี คำตอบสูงขึ้นเป็น 1.5% ทั้งนี้ ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจต่างกันมาก ความพยายามทำการสำรวจ หรือประเมินขนาดกลุ่ม LGBTQ+ จึงมักต้องเผชิญกับข้อจำกัด และความไม่แม่นยำ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมไทยควรขยายความเข้าใจต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ชีวิตและสุขภาพ