รู้ไหมคนไทย!! “ผู้ป่วยทางจิต” สัดส่วน 1 ต่อ 24 หรืออาจสูงนับ 10 ล้านคนในปัจจุบันสูงกว่าผู้ติดยาเสพติด ส่งผลเครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย ไม่เว้นเพศ/วัย สถานการณ์ทั่วโลกกว่า 970 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไม่หยุด ทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ…
“ผู้ป่วยทางจิต” ปัญหาใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ หลายคนปฏิเสธว่าฉันไม่ได้ป่วย แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีพฤติกรรมหลายอย่างที่บ่งชี้ชัดว่า สมควรที่จะต้องเข้ารับการรักษา หรือบำบัดเพื่อผ่อนคลาย โดยเฉพาะปัจจัยในยุคปัจจุบันที่มีผลอย่างสูงต่อผู้ป่วยทางจิต TOPPIC Time ขอนำผลการสำรวจล่าสุดของ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ที่ออกมาเปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 (ตัดตอนมาบางส่วน) ที่ชี้ว่า สุขภาพจิต หรือผู้ป่วยทางจิตในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
เปิดตัวเลขผู้ป่วยทางจิตในไทย
– จำนวน 1.3 ล้านคน ปีงบ 2558
– จำนวน 2.8 ล้านคน ปีงบ 2562
– จำนวน 2.9 ล้านคน ปีงบ 2566
ผู้ป่วยทางจิตประชากรทั่วโลกกว่า 970 ล้านคน ไทย 1 ต่อ 24
จากสัดส่วนผู้ป่วยทางจิตของประเทศไทยต่อประชากร คือ 1 ต่อ 24 และในปี 2562 WHO องค์การอนามัยโลก ระบุว่า 1 ใน 8 ของคนทั่วโลกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 970 ล้านคนทั่วโลก รุนแรงขึ้นเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ประชาชนทั่วโลกวิตกกังวล และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ตัวเลขผู้ป่วยทางจิต – ปัจจัยส่งเสริมหลัก
ไทยมีผู้ป่วยทางจิตเข้ารับการรักษา 2 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคนและตัวเลขดังกล่าว สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก
ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) กรมสุขภาพจิต ปีงบ 2566 เข้าประเมินกว่า 8.5 แสนคน พบว่า
– มีความเครียดสูงอยู่ที่ร้อยละ 4.5
– เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.8
– เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 3.2
ปีงบ 2567 เข้ารับการประเมิน 7.5 แสนคน (3 เดือนแรกของปี)
– มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5
– เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2
– เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6
ผู้ป่วยทางจิตส่งผลสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
WHO พบการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Years: DALYs) ในกลุ่มโรคผู้ป่วยทางจิต คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 13.0 ของความสูญเสียที่เกิดจากความเจ็บป่วยและการบาดเจ็บทั้งหมด อีกทั้งยังส่งผลต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ปี 2565 เฉพาะภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้ป่วยทางจิตโรควิตกกังวล-ซึมเศร้า-เสี่ยงฆ่าตัวเองพุ่ง
ปีงบ 2566 ไทยพบสัดส่วนของผู้ป่วยทางจิตกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้ามีสัดส่วนสูงที่สุดเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าสัดส่วนผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่น ๆ รวมกัน การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบ 2566 พบว่า
– มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจำนวน 5,172 คน หรือเท่ากับ 7.9 ต่อประชากรแสนคน
– เฉลี่ยวันละ 14 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง
– วัยเด็กและเยาวชน มีปัญหาสุขภาพจิต จากความเครียด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการกลั่นแกล้ง (Bully) ในโรงเรียน และปัญหายาเสพติด
– พบว่ามีผู้ป่วยทางจิต เคยก่ออาชญากรรมรุนแรง (ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน และวางเพลิง) ถึงร้อยละ 22.8328 (มีแนวโน้มทำผิดซ้ำ)
เรื่องผู้ป่วยทางจิตเหล่านี้ เป็นข้อเท็จจริงในสังคมปัจจุบัน นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนในสังคมไทย ต้องช่วยกับตอบ…ทั้งเผชิญ ร่วมกันดูแล และรับมือ!!
ที่มา: สศช.: ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567