“โรคเสพติดการช้อปปิ้ง” มีด้วยหรือโรคนี้?? ถ้าคุณหยุด “ช้อปปิ้ง” ไม่ได้ นี่คือสัญญาณอันตรายของคุณแล้วจ้า TOPPIC Time นึกว่าเป็นคนเดียว ที่ไหนได้…เป็นโรคค่ะ!!
ยิ่งในยุคปัจจุบัน การ “ช้อปปิ้ง” นี่สามารถทำได้เพียงแค่กระพริบตา ไม่ว่าจะออนไลน์ ออฟไลน์ เอาเป็นว่า…พี่ๆ ขับแว้นมาส่งกันละไม่รู้กี่รอบ ยิ่งโปรโมชั่น 1.1 , 2.2 , 6.6 , 8.8 กล่องเป็นพะเนินเทินทึกเท่าภูเขาฟูจิ โดนบ่นอุบไม่พอ กระเป๋าก็ล้มละลายไปด้วยจ้า
หลายครั้งก็เป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์ ยิ่งถ้า “ช้อปปิ้ง” ถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินแล้ว และยังหยุดไม่ได้ จนกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเข้าข่ายเป็น Shopaholic หรือ โรคเสพติดการช้อปปิ้ง โดยไม่รู้ตัว
Shopaholic ‘โรคเสพติดการช้อปปิ้ง’ สัญญาณอันตราย!!
Shopaholic ‘โรคเสพติดการช้อปปิ้ง’ คือ?
แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH-Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า Shopaholic หรือ โรคเสพติดการช้อปปิ้ง เป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะเสพติดการซื้อของ โดยที่ไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตัวเอง และมีความอยากจะไปชอปปิงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์จนต้องทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ซึ่งโรคนี้พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไปทั้งเพศหญิงและเพศชาย
9 พฤติกรรมที่เข้าข่ายการเป็น Shopaholic ‘โรคเสพติดการช้อปปิ้ง’
- อยากซื้อของตลอดเวลา
- ซื้อของเกินความจำเป็น
- ยับยั้งพฤติกรรมการช็อปปิงของตัวเองไม่ได้
- มีความรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ โดยมักจะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ
- รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว
- ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
- ซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น
- ต้องหลบซ่อนหรือโกหกปกปิดเวลาซื้อของนั้นๆ
- มีปัญหาด้านอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ หรือหนี้สิน
สาเหตุการเกิด Shopaholic ‘โรคเสพติดการช้อปปิ้ง’
“โรคเสพติดการช้อปปิ้ง” เกิดได้ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยทางสังคม ซึ่งสาเหตุที่มาจากปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ มีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง มีปัญหาในการควบคุมตัวเองหรือยับยั้งชั่งใจ ส่วนปัจจัยทางสังคม เช่น การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงการใช้บัตรเครดิตในการซื้อของไปก่อนโดยยังไม่ต้องใช้เงินสด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเสพติด “ช้อปปิ้ง” ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน
วิธีการรักษา Shopaholic ‘โรคเสพติดการช้อปปิ้ง’
“โรคเสพติดการช้อปปิ้ง” สามารถรักษาให้หายได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเปลี่ยนทัศนคติ เช่น การจำกัดวงเงินบัตรเครดิตหรืองดใช้บัตรเครดิต โดยส่วนใหญ่แล้วจิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) ซึ่งจะเป็นการพูดคุยให้คำปรึกษา เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการมีพฤติกรรมโรคเสพติดการชอปปิง จากนั้นจึงทำการปรับเปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตัวเองและปรับเปลี่ยนนิสัยการเสพติดการชอปปิงได้ เช่น หากใช้การชอปปิงเป็นการระบายความเครียด ก็อาจจะหาวิธีระบายความเครียดวิธีอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลเสียต่อตัวเอง หรือถ้ามีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็ต้องรักษาควบคู่กันไป
How To ไกลห่าง Shopaholic ‘โรคเสพติดการช้อปปิ้ง’
สำหรับการป้องกัน “โรคเสพติดการช้อปปิ้ง” ต้องเริ่มจากการวางแผนการใช้จ่าย จดบันทึกรายรับรายจ่าย หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว หรือจะหากิจกรรมอื่นๆ ทำยามว่าง แทนการ “ช้อปปิ้ง” เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ฝึกฝนการควบคุมตัวเอง และหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณา การตลาดที่กระตุ้นให้ซื้อของ เอาง่ายๆ ลบแอพทิ้งไปเลยแม่!!
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัว มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็น “โรคเสพติดการช้อปปิ้ง” จนรู้สึกว่าไม่ได้ “ช้อปปิ้ง” แล้วหงุดหงิด แนะนำว่าควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมนะ ก่อนจะบานปลายฝ่านี้!!