เห็นข่าวเชื้อปรสิตในน้ำประปาแล้ว งานนี้ทำเอาหลายคนแอบหลอนอยู่ไม่น้อย ว่าน้ำประปาในบ้านเรามีปรสิตเหมือนในข่าวมั้ย? ล้างไปแล้วจะเสี่ยง “ตาอักเสบ” หรือเปล่า? แล้วจะมีวิธีป้องกันเชื้อโรคที่มากับน้ำยังไง? โอ้ย สารพัดความความกลัว แต่ไม่ต้องกังวลไปจ้า วันนี้ TOPPIC Time จะพาไปหาคำตอบเหล่านี้กัน…
โดยผู้ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวโรคตานั่นเอง โดย พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน โรงพยาบาลวิมุต ได้อธิบายถึงกรณีโรค “ตาอักเสบ” จากเชื้อปรสิตที่กำลังเป็นข่าวว่า “โรคนี้เรียกว่ากระจกตาติดเชื้อไมโครสปอริเดีย (Microsporidial Keratitis) เกิดจากการสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อปรสิตกึ่งราไฟลัมไมโครสปอรา เชื้อกลุ่มนี้พบบ่อยในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะในหน้าฝน โดยผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อจากน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำโคลน น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หรือทีมนักกีฬารักบี้ที่แข่งขันแล้วไปล้มคลุกในแอ่งโคลนแล้วเกิดการติดเชื้อของสมาชิกในทีมพร้อม ๆ กัน เป็นต้น”
ไมโครสปอริเดียจัดเป็นเชื้อฉวยโอกาส มักแสดงอาการติดเชื้อในอวัยวะที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ดวงตา หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานและสภาวะของแต่ละบุคคล เพราะแม้จะได้รับเชื้อเหมือนๆ กัน แต่ละคนก็ยังมีปัจจัยตั้งต้นแตกต่างกันไป ทั้งในส่วนสุขภาพดวงตาและภูมิคุ้มกันร่างกาย ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันปกติ มักจะติดเชื้อที่ดวงตา ทำให้เกิดการอักเสบของกระจกตาและชั้นผิวตาส่วนนอก โดยอาการมักไม่รุนแรงถึงขั้นทําให้ตาบอดหรือต้องเปลี่ยนถ่ายกระจกตา
แต่ถ้าเป็นคนที่ใส่คอนแทคเลนส์และตาแห้งมีแผลกระจกตาหรือเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง หรือเคยมีโรคเกี่ยวกับดวงตา เคยผ่าตัดตา ก็อาจจะทําให้การติดเชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ปกติ เช่นคนที่มีโรคประจําตัวอย่างเบาหวานเรื้อรังที่คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน หากสัมผัสเชื้อก็อาจจะทําให้การติดเชื้อลุกลามไประบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่นระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอุจจาระร่วงเรื้อรัง ถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีอักเสบ จนถึงการติดเชื้อแพร่กระจายหลายระบบในร่างกายได้
กระจกตาอักเสบไมโครสปอริเดีย ไม่ใช่โรคตาแดงจากไวรัส
การแยกแยะโรคตาแดงด้วยตนเองนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ สำหรับการติดเชื้อปรสิตที่กำลังกล่าวถึงนี้ มักจะเกิดการติดเชื้อหนึ่งข้างได้บ่อยกว่าสองข้างพร้อม ๆ กัน โดยตาที่ติดเชื้อมักจะมีอาการระคายเคือง ตาแดง ตามัว น้ำตาไหล มีขี้ตาออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาการอาจจะทับซ้อนกับโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสหรือภาวะภูมิแพ้ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ง่าย
วิธีสังเกตเบื้องต้นคือ โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสทั่วไปอาจจะเกิดอาการไล่เลี่ยกับการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ มักมีประวัติสัมผัสโรค และพบการติดเชื้อสองตาพร้อมกันได้บ่อยกว่า เนื่องจากไวรัสมีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าเชื้อปรสิต โดยมากโรคตาแดงจากไวรัสมักอาการไม่รุนแรง อาจเกิดการอักเสบที่เยื่อเหนือตาขาวเป็นหลักโดยกระจกตาอาจไม่เกิดแผล ส่วนใหญ่จึงหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษาจำเพาะ แต่เชื้อปรสิตตัวนี้มักจะเกิดการอักเสบที่กระจกตาโดยตรง ทำให้เกิดตาแดงชนิดที่รอบตาดำมีลักษณะแดงกว่าจุดอื่น (Ciliary Injection) ซึ่งบ่งชี้ถึงการอักเสบในลูกตาหรือกระจกตา ทว่าไม่จำเพาะเจาะจง การอักเสบในดวงตา หรือเชื้ออื่น ๆ ที่ทําให้เกิดการติดเชื้อบนตาดํา ล้วนแต่ทำให้มีอาการคล้ายกันได้ ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะโรคนี้ได้ด้วยตนเอง แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยหน้ากล้องขยาย จะเห็นรอยโรคบนกระจกตาที่มีลักษณะจำเพาะของเชื้อชนิดนี้ ทำให้สามารถวินิจฉัยได้แม้ไม่ส่งตรวจเพิ่มเติม
อีกหนึ่งความเข้าใจผิดคือเชื้อปรสิตไมโครสปอริเดีย ไม่ใช่ “ไรขนตา” เพราะไรขนตา (Demodex) เป็นปรสิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่น สามารถพบได้บนใบหน้าและรอบดวงตาอยู่แล้ว โดยปกติมักไม่ก่อโรคและไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากไรขนตามีจำนวนมากจนร่างกายขาดสมดุลก็จะก่อให้เกิดอาการเปลือกตาและผิวหน้าอักเสบแดงได้ สร้างความเดือดร้อนรําคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจําวัน นอกจากนี้แล้วยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อชนิดอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากกลไกป้องกันการติดเชื้อบกพร่อง ซึ่งจะแตกต่างจากการติดเชื้อที่ผิวกระจกตาโดยตรงดังที่กล่าวมาข้างต้น
การรักษากระจกตาอักเสบจากเชื้อไมโครสปอริเดีย แพทย์ต้องใช้ยาควบคู่หลายตัว ทั้งแบบรับประทานและแบบหยอด สิ่งสำคัญคือคนไข้ไม่ควรซื้อยากินหรือยาหยอดเอง โรคตาแดงทั่วไปที่เกิดจากเชื้อไวรัสหากการอักเสบเป็นมากสามารถให้สเตียรอยด์เพื่อลดอาการตาแดงได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อปรสิตตัวนี้ หากผู้ป่วยได้รับยาสเตียรอยด์ ตัวโรคจะแย่ลงเนื่องจากยาเสตียรอยด์จะกดการตอบสนองจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เชื้อเพิ่มปริมาณทวีคูณในดวงตามากขึ้น อาจเกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้างและต้องใช้เวลารักษานานขึ้น และผลการรักษาอาจจะแย่ลง
ใช้น้ำประปาล้างตา เสี่ยง “ตาอักเสบ” จริงมั้ย?
“การใช้น้ำประปาล้างตามีอันตรายแน่นอน เพราะน้ำประปาไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้กับดวงตาได้ เมื่อล้างหน้าควรหลับตาให้สนิทเพื่อไม่ให้น้ำเข้าตา แม้น้ำประปาที่ได้มาตรฐานจะผ่านการฆ่าเชื้อก่อโรคด้วยคลอรีน แต่คลอรีนเองก็ก่อให้เกิดการอักเสบระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อดวงตา ซ้ำร้ายหากน้ำประปานั้นไม่ได้มาตรฐานเช่นมีค่าคลอรีนต่ำกว่าเกณฑ์ ก็อาจจะมีเชื้อก่อโรคเช่นไมโครสปอริเดีย หรือเชื้อชนิดอื่นๆ เช่นแบคทีเรียก่อโรคปะปนได้ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระจกตาดังกล่าว
การใช้น้ำประปาล้างตาอาจทำได้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น เช่น เมื่อมีสารเคมีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรงเข้าตา ซึ่งต้องปฐมพยาบาลโดยการรีบล้างออกด้วยน้ำที่สะอาดที่สุดเท่าที่มีในปริมาณมากโดยทันที สำหรับในชีวิตประจำวัน คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องล้างตา เว้นแต่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา อาจพิจารณาล้างตาได้โดยเลือกใช้น้ำเกลือสะอาดปราศจากเชื้อหรือน้ำตาเทียม เพราะทั้งสองอย่างนี้ปลอดเชื้อและปลอดภัยที่สุด สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
ขั้นตอนการล้างตาต้องระวังไม่ให้น้ำสัมผัสหรือไหลผ่านเปลือกตา ขนตา หรือผิวหนังรอบดวงตา เพราะอาจได้รับสิ่งสกปรก สารเคมี หรือเชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าว ปนเปื้อนกับน้ำเข้าสู่ดวงตา ซึ่งอาจเกิดผลเสียเพิ่มเติม โดยมากจึงไม่แนะนำให้ล้างตาหากไม่จำเป็น การหยอดน้ำตาเทียมเพียงอย่างเดียวก็อาจเพียงพอหากมีอาการระคายเคืองเล็กน้อย ” พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวเสริม
ภาวะตาแดงแยกด้วยตนเองได้ยาก มีทั้งตาแดงจากการติดเชื้อ และตาแดงจากการอักเสบโดยไม่ติดเชื้อ ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยคือการจำหน่ายยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยากลุ่มเสตียรอยด์ ซึ่งหากใช้ผิดวิธี ผิดโรค อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลาม หรือเกิดต้อหิน ต้อกระจกในระยะยาว ประกอบกับการวินิจฉัยโรคตาเป็นเรื่องมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติโดยไม่ทุเลาหายในเวลาอันสั้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและนำไปสู่การรักษาที่ตรงกับโรคมากที่สุด.