เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการ “นอนไม่หลับ” หรือกว่าจะหลับได้ก็เกือบเช้า ทำให้ตื่นมารู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง และรู้สึกหงุดหงิดง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนของโรคนอนไม่หลับ หากไม่รีบรักษาปล่อยไว้จนกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ในอนาคต…
TOPPIC Time โดยข้อมูลจาก นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า ภาวะ “นอนไม่หลับ” (Insomnia) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท รวมไปถึงใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับ โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะพบได้บ่อยในวัยทำงาน, ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานๆ จนมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่อาจเพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
เช็กอาการ สาเหตุ “นอนไม่หลับ”
อาการ “นอนไม่หลับ” สามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น ต้องใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับได้, หลับแล้วตื่นบ่อยๆ ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับได้อีก ง่วงนอนในเวลากลางวัน แต่นอนไม่หลับในเวลากลางคืน และมีอาการดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป
ภาวะ “นอนไม่หลับ” แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. หลับยาก (Initial insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนหลับยากใช้เวลานอนนานกว่าจะหลับ ภาวะดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล
2. หลับแล้วตื่นและไม่สามารถหลับตามที่ร่างกายต้องการได้อีก (Maintenance insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ยาวมีการตื่นกลางดึกบ่อย ภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
3. ตื่นเร็วและหลับต่อไม่ได้ (Terminal insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ “นอนไม่หลับ”
1. ปัจจัยด้านจิตใจ
สภาวะความเครียดทำให้เกิดความกังวล หมดกำลังใจ อาการเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรืออาจเกิดจากโรคที่มีผลโดยตรงกับความรู้สึก เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น
2. ปัจจัยด้านร่างกาย
มีอาการป่วยที่มีส่วนทำให้เกิดโรค เช่น โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การหมดประจำเดือน รวมไปถึงอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน
3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
อุณหภูมิภายในห้องนอนสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป แสงสว่างมากเกินไป มีเสียงรบกวนจากภายนอก และการนอนต่างที่ ส่งผลทำให้นอนหลับยาก
4. ปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรม
การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้นอนหลับยาก และอุปนิสัยการนอนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การเล่นเกมหรือโทรศัพท์มือถือก่อนนอน รวมถึงการทำงานที่ต้องมีการเข้าเวร ทำให้ต้องเปลี่ยนเวลาการนอนบ่อย ๆ
การ “นอนไม่หลับ” เรื้อรังยังส่งผลด้านลบต่อสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิต เช่น เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า, เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน, เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการขับรถ
การรักษาอาการ “นอนไม่หลับ”
การรักษาภาวะ “นอนไม่หลับ” ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละบุคคล เช่น หากเกิดจากอุปนิสัยการนอน แพทย์จะให้คำแนะนำในการปรับอุปนิสัยการนอนที่ถูกต้อง หรือหากเกิดจากโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคประสาทตื่นตัวผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมในการรักษา
สำหรับการป้องกันและแก้ปัญหาการ “นอนไม่หลับ” เบื้องต้น สามารถทำได้ โดยการจัดห้องให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการนอน, หลีกเลี่ยงการงีบในช่วงกลางวัน, เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกัน, นอนหลับเมื่อรู้สึกง่วง, หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือชา หลังอาหารเที่ยง, หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือโรคกรดไหลย้อนได้, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่ควรใช้ยานอนหลับหากไม่จำเป็น แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วยังปรับการนอนไม่ได้ ควรมาพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อประเมินปัญหาการนอนไม่หลับ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม.