สถิติน่าตกใจ! คนไทยกว่า 3 ล้านคน “นอนกรน” เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ! แล้วคุณล่ะ นอนกรนกันไหม? แต่ไม่ต้องกังวลไป วันนี้ TOPPIC Time มีทางเลือกใหม่ในการรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยเทคโนโลยี iNAP จะเป็นอย่างไร ไปดูกัน…
โรงพยาบาลวิมุต เดินเกมรุก จับตลาดมาแรง Sleep Economy หรือเศรษฐกิจการนอน สอดรับเมกะเทรนด์สุขภาพน่าจับตา หลังคนทั่วโลกเผชิญหลายปัญหาด้านการนอนหลับมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ล่าสุดผนึกความร่วมมือกับ นำวิวัฒน์ หรือ NAM ร่วมเสริมทัพเฮลท์เทคเพื่อยกระดับคุณภาพการนอนหลับด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยี iNAP (Intraoral Negative Airway Pressure Therapy) ช่วยรักษาอาการ “นอนกรน” ที่คุกคามคนไทยกว่า 25% ซึ่งเป็นสัญญาณเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ภัยเงียบคุกคามสุขภาพคนไทยกว่า 3 ล้านคน
โดย รพ. วิมุตเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เรื่องอันตรายจากการ “นอนกรน” ที่นำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงทั้งทางกายและจิตใจ เช่น อารมณ์แปรปรวนง่าย อ่อนเพลีย ง่วงนอนมากระหว่างวันจนเป็นอันตรายต่อชีวิต ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ในระยะยาว พร้อมชวนคนไทยสังเกตตนเองและคนรอบตัว หากมีอาการนอนกรนอยู่เป็นประจำ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ทั้งนี้ เพื่อโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและลดอัตราการเสียชีวิตที่ป้องกันได้
ทางเลือกใหม่รักษาอาการ “นอนกรน”
นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โรงพยาบาลวิมุต ยังคงเดินหน้ายกระดับการดูแลสุขภาพคนไทยในแบบองค์รวม พร้อมเสริมแกร่งธุรกิจเฮลท์แคร์ให้สอดรับตลาดและเทรนด์สุขภาพยุคใหม่อยู่เสมอ ข้อมูลจาก Emergen Research เผยว่าในปี 2022 ตลาด Sleep Economy หรือเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ มีมูลค่าถึง 512.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 6.3% ปัจจุบัน ตัวเลขจากทั่วโลกและในไทยชี้ให้เห็นว่าภาวะ “นอนกรน” และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภัยร้ายที่คุกคามสังคมโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยข้อมูลของ National Council on Aging (NCOA) ในสหรัฐฯ ระบุว่าประชากรโลกราว 936 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าผู้ที่มีอาการ “นอนกรน” เสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวมากถึง 94% ส่วนสถิติในประเทศไทย ข้อมูลจากราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่าคนไทยประมาณ 25% มีภาวะนอนกรนและพบผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับประมาณ 5% หรือราว 3 ล้านคน ซึ่งในผู้ที่มีภาวะดังกล่าวมักมีอาการกรนมากจนหายใจติดขัด เกิดการสะดุดหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ทำให้ร่างกายขาดอากาศเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่หลับ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจ สมอง หลอดเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนมากมายโดยไม่รู้ตัว เช่น ภาวะใหลตาย, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, เบาหวาน, อัมพาต, ความดันโลหิตสูง และอีกหลายโรค รพ. วิมุต ตระหนักว่าการนอนกรน ไม่ใช่แค่เรื่องน่ารำคาญ แต่เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์ และปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางการรักษาทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้ใช้บริการกลับมานอนได้อย่างมีคุณภาพ”
การร่วมมือกับบริษัท นําวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เพื่อเปิดตัว iNAP Sleep Therapy System นับเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการแก้ปัญหาและเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ ทั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของ รพ. วิมุต ในการเป็นผู้นำด้าน Trusted Healthcare Platform นำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามายกระดับการดูแลรักษาและให้บริการที่ครอบคลุมอย่างไร้รอยต่อ พร้อมเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรเพื่อเสริมแกร่งแพลตฟอร์มสุขภาพเพื่อดูแลคนไทยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน” นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ กล่าวเสริม
นายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ กรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นําวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ NAM กล่าวว่า “การเปิดตัว iNAP Sleep Therapy System ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเพิ่มทางเลือกใหม่สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับในประเทศไทย และเป็นการเปิดตัวที่โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย โดย iNAP One Sleep Therapy System ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ออกแบบมาเพื่อลดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นสาเหตุของการ “นอนกรน” ทำงานด้วยเทคโนโลยี Oral Negative Air Pressure Therapy สร้างแรงดูดอ่อนๆ ทำให้ลิ้นและเนื้อเยื่ออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ช่วยให้หายใจได้อย่างเป็นธรรมชาติขณะที่นอนหลับ
ด้วยรูปลักษณ์ที่สะดวกต่อการพกพา มีขนาดเล็กกะทัดรัด และสามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ ไม่ต้องเสียบปลั๊ก ใช้งานได้นาน 4-6 วัน ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการทดสอบและรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทย รวมทั้งผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) และในประเทศไต้หวัน อีกทั้งยังได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายจากองค์กรชั้นนำ พร้อมการยอมรับจากแพทย์และนักวิจัยในหลายประเทศ ว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการลดภาวะหยุดหายใจขณะหลับในทุกระดับความรุนแรง”
“นอนกรน” สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์เฉพาะทางสาขานาสิกวิทยาและภูมิแพ้ โรงพยาบาลวิมุต เล่าถึงสาเหตุของการ “นอนกรน” และความเสี่ยงจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ว่า “ในสังคมยุคปัจจุบัน ปัญหาการนอนนับเป็นปัญหาสุขภาพเรื่องใหญ่ที่พบ เราพบว่าผู้คนทั่วโลกมักมีความเครียดสะสม นอนไม่หลับ นอนไม่พอ และมีปัญหาเรื่องคุณภาพการนอน โดยพฤติกรรมนอนที่ผิดปกติเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจโดยที่เราไม่รู้ตัว และที่น่าเป็นห่วงคือหลายคนยังคิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องปกติ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น โดยเฉพาะในคนที่นอนกรนรุนแรงจนโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วยนั้น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
ภาวะ “นอนกรน” พบได้ในทุกอายุ โดยมักจะพบในผู้ใหญ่และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวมาก การนอนกรนระดับรุนแรงที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วยเราเรียกว่า Obstructive Sleep Apnea ซึ่งเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบลง สาเหตุอาจเกิดจากกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอ โคนลิ้นมีการย่อนไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะขณะหลับหรือการที่ช่องคอมีลักษณะแคบ ทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าสู่ปอดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะอื่น ๆ ได้ คนไข้จะมีภาวะออกซิเจนต่ำ มีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดการสะดุ้งเฮือกกลางดึกหรืออาการเหนื่อยหอบหลังสะดุ้งตื่น ทำให้รู้สึกเหมือนยังไม่ได้พักผ่อนเมื่อตื่นนอน แต่กลับเหนื่อยล้าและรู้สึกง่วง เมื่อเป็นเช่นนี้เป็นประจำจะส่งผลร้ายต่อสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงความเสี่ยงต่อโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจห้องบนผิดปกติ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงซึมเศร้าและโรคอ้วน”
“ส่วนการปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัญหาการ “นอนกรน” และการหยุดหายใจขณะหลับที่ดีที่สุดคือการลดน้ำหนักตัว ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ปรับท่านอนเป็นนอนตะแคงจะช่วยให้อาการลดลงบ้าง อย่าอดนอน และที่สำคัญหมั่นสังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้าง หากพบอาการผิดปกติ เช่น นอนกรนเป็นประจำและมีอาการสะดุ้งเฮือก นอนเต็มที่แต่ตื่นมายังง่วงมาก ปากแห้ง-คอแห้งและเจ็บคอเมื่อตื่นนอน หรือปวดศีรษะหลังตื่นนอนเป็นประจำ ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที หากซักประวัติแล้วเข้าข่ายก็ควรตรวจด้วยการทำ Sleep Test เพื่อวิเคราะห์การทำงานของร่างกายระหว่างนอนหลับโดยละเอียด เพื่อหาแนวทางรักษาอาการต่อไปและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่” ผศ.พญ.กวินญรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย.