“หัวใจล้มเหลว” ภาวะที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับทุกคน เพราะภาวะนี้จะทำให้ทุกคนเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน โดยที่คนรอบข้างอาจไม่ได้คาดคิดมาก่อน หรือแม้กระทั่งเจ้าตัวเอง ก็ไม่อาจทันรู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ เพราะช่วงเวลาเพียงน้อยนิด ก็สามารถพรากลมหายใจเราไปได้ทุกเมื่อ
สถิติการเสียชีวิตของคนไทยด้วย “โรคหัวใจ” ในทุกๆ ปีที่ผ่านมา มีจำนวนไม่น้อยจากการเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ และถูกจัดเป็นอันดับต้นๆ ด้วย TOPPIC Time เชื่อว่า หลายคนอาจกำลังทำพฤติกรรมเสี่ยง แบบซ้ำๆ วนอยู่ทุกวี่วัน โดยที่คุณไม่มีอาการใดๆ ที่บ่งบอกว่า คุณกำลังทำร้าย “หัวใจ” อวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย และกำลังเข้าสู่โหมดการเป็นโรคหัวใจ ที่มีภาวะเสี่ยงกับอาการ “หัวใจล้มเหลว” เลย
วันนี้ สาวสุข จึงมีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับภาวะ “หัวใจล้มเหลว” มาฝาก เริ่มตั้งแต่ ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ? พฤติกรรมเสี่ยง การดูแลตนเอง สาเหตุ ต้นเหตุ รวมไปถึงวิธีป้องกันไม่ให้ภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบ มาฝากด้วย รู้ใช่ว่านะคะเรื่องแบบนี้ เพราะร่างกาย ตายทีเดียวค่ะ ถ้ายังอยากไปเที่ยวเล่น ยังอยากทำงาน อยากทำอะไรเพื่อคนที่คุณรักอยู่ แนะนำให้อ่านแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ เพราะภาวะ “หัวใจล้มเหลว” เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ สำหรับทุกๆ คนในครอบครัว!!
ทั้งนี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวไว้ว่า การดูแลสุขภาพหัวใจของตนเองและคนข้างๆ ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการดูแล “หัวใจ” ให้แข็งแรง (ย้ำว่า…แข็งแรง!!) เพราะหัวใจเป็นอวัยวะในทรวงอก อยู่ระหว่างปอดทั้ง 2 ข้าง คอยทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากการทำงานของหัวใจผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกายได้
5 เรื่องรู้จัก “หัวใจล้มเหลว” ภาวะที่เสียชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว
1. ภาวะ “หัวใจล้มเหลว” คือ?
ภาวะ “หัวใจล้มเหลว” หรือที่เรียกว่า Heart Failure คือ ภาวะที่หัวใจอ่อนแรง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างปกติ เนื่องจากหัวใจมีการบีบตัว หรือคลายตัวที่ผิดปกติ บางครั้งหัวใจมีขนาดโต หรือหนากว่าปกติ
2. สาเหตุที่ “หัวใจล้มเหลว”
สาเหตุที่ทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดได้จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการหรือบกพร่อง โรคกล้ามนื้อหัวใจอักเสบ และการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ส่วนสาเหตุการเกิดภาวะ “หัวใจล้มเหลว” อื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง จากสารพิษต่างๆ เช่น การดื่มสุรา หรือยาเสพติด พันธุกรรม โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น
3. ตัวเร่งที่ทำให้เกิดภาวะ “หัวใจล้มเหลว”
นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะ “หัวใจล้มเหลว” กำเริบมากยิ่งขึ้น เกิดได้จากการรับประทานอาหาร “รสเค็ม” หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง การดื่มน้ำมากเกินไป คือมากกว่าที่ปัสสาวะออกจากร่างกาย การรับประทานยาที่ไม่สม่ำเสมอ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การรับประทานยากลุ่ม NSAIDS และภาวะอื่นๆ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อ ในร่างกาย ภาวะซีดหรือเลือดจาง ล้วนเป็นตัวเร่งที่ทำให้ “หัวใจล้มเหลว” ทั้งสิ้น
4. อาการของภาวะ “หัวใจล้มเหลว”
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะ “หัวใจล้มเหลว” มักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- เหนื่อยง่าย หรือหอบ
- นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนเพิ่มหรือนั่งหลับ
- สะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืน เพราะอึดอัดหายใจลำบาก
- บวมที่ข้อเท้าและหน้าแข้ง
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร และท้องอืด
5. พฤติกรรมลดภาวะเสี่ยง “หัวใจล้มเหลว”
ดังนั้น ผู้ป่วยควรดูแลและควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะ “หัวใจล้มเหลว” กำเริบมากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ดังนี้
- ชั่งน้ำหนักทุกวัน ก่อนทานอาหารเช้าทุกวัน หรือภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วในช่วงเช้า
- จดบันทึกน้ำหนักเพื่อช่วยประเมินตนเอง
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ตามแผนการรักษาของแพทย์
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม จำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างพอดี อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินทางราบ หากหอบเหนื่อยควรหยุดพักทันที
- งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะสารพิษในบุหรี่จะส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง
- รับประทานยา อย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม
อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรสังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ TOPPIC Time แนะนำให้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค และนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย