เตรียมเรียกตัวประจำการ “หุ่นยนต์บริการ” นำทาง ในอาคารรัฐสภา หลังทดสอบระบบปฏิบัติการ สนนราคาตัวละ 5 แสน หากซื้อต้องใช้ 3 ตัว แก้ปัญหาคนหลงทาง เปิดเส้นทางยุคหุ่นยนต์บริการ ตั้งแต่งานเสิร์ฟ แนะนำโปรฯ บอกเส้นทาง และร้องเพลงกล่อม…
ถึงยุคโรบอท หรือ “หุ่นยนต์บริการ” เข้ามามีบทบาทและใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น หลังเคยดูแต่ในภาพยนตร์ และการจินตนาการของนักเขียนทั้งหลาย แต่วันนี้เป็นความจริงอีกขั้น TOPPIC Time จะขอไล่เรียงอัจฉริยะหุ่นยนต์เฉพาะในงานบริการ ที่เริ่มเข้าปฏิบัติการอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้น หุ่นยนต์บริการ
– ปี 2553 เริ่มต้น จากร้านขายสุกี้ MK ที่คิดค้นตั้งแต่แรก ที่จะนำ “หุ่นยนต์บริการ” มาใช้ เนื่องจากต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ในหลายสาขาบริการ รวมถึงต้องการฉีกรูปแบบการบริการ แต่เทคโนโลยีในสมัยนั้นยังมาไม่ถึง โครงการ หุ่นยนต์บริการ จึงต้องพับลงไประยะหนึ่ง จากนั้น ในปี 2563 ได้มีการนำ หุ่นยนต์บริการ มาช่วยเสิร์ฟอาหารจริงจัง ระยะแรกประมาณ 100 กว่าตัว กระจายตาม ร้าน MK สุกี้ และ Yayoi หลายสาขา
– ปัจจุบันลูกค้าได้คุ้นชินกับบริการของ หุ่นยนต์บริการ ทั้ง MK Group, Yayoi และสุกี้ตี๋น้อย หลายสาขา ช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของพนักงานได้เป็นอย่างดี
ระบบการทำงานของ หุ่นยนต์บริการ
– “หุ่นยนต์บริการ” สามารถบริการเสิร์ฟ เพียงกดหมายเลขโต๊ะที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่ม start ให้ หุ่นยนต์บริการ เดินไปเสิร์ฟตามเส้นทางได้ทันที
– “หุ่นยนต์บริการ” ใช้เทคโนโลยี VSLAM solution คือ การค้นหาตำแหน่งและเส้นทางเดินได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำงานร่วมกับ QR Reader ด้านบนเพดาน แปะไว้ตามโต๊ะ หุ่นยนต์จะเดินไม่หลงทางและหยุดประจำโต๊ะทุกครั้ง รวมถึงตัวหุ่นยนต์ มีเซ็นเซอร์ด้านหน้าช่วยจับสิ่งกีดขวาง ไม่ให้ชนสิ่ง
– หุ่นยนต์ยังได้พัฒนาระบบ LIDAR เซนเซอร์ทำงานร่วมกับ AI ช่วยให้สามารถเดินในพื้นที่ที่ซับซ้อน รวมถึงสามารถหลบหลีกเส้นทางได้แม่นยำ
– หุ่นยนต์ ยังช่วยเก็บจาน และพูดแนะนำโปรโมชั่นต่างๆ เจ๋งสุดคือ ร้องเพลงกล่อมลูกค้า
หุ่นยนต์บริการ ให้ข้อมูล-ประชาสัมพันธ์
– เมื่อต้นปี 2566 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จัดหุ่นยนต์ SRT BOT และ Smart Wheelchair ให้บริการ นำทางผู้โดยสารทั่วไปและผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไปได้ทุกที่ในอาคาร ไม่ต้องกลัวหลง
– “หุ่นยนต์บริการ” ให้บริการได้ถึง 3 ภาษา ไทย อังกฤษ และจีน ด้วยเสียงทักทาย “สวัสดีครับ ต้องการความช่วยเหลือด้านใด ผู้ใช้ต้องการให้ผมนำทางไปที่ไหนครับ”
– “หุ่นยนต์บริการ” จะจอดรอผู้โดยสารอยู่ในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะเดินตามผู้โดยสารทั่วไป ส่วนน้อง Smart Wheelchair จะรองรับผู้พิการ
– ผู้ใช้ “หุ่นยนต์บริการ”สามารถกดเลือกเมนูที่ต้องการให้หุ่นยนต์ให้ความช่วยเหลือ ก่อนจะกดยืนยันตัวตน และให้หุ่นยนต์ถ่ายภาพ หลังจากหุ่นยนต์เซ็ตระบบแล้วจะนำทางผู้ใช้งานไปยังจุดหมายที่ต้องการ เช่น จุดซื้อตั๋ว จุดเรียกรถแท็กซี่ ห้องพยาบาล ศูนย์อาหาร จุดจอดรถประจำทาง ห้องจุดเปลี่ยนเส้นทาง ประตู้เข้า-ออก ห้องละหมาด
– หุ่นยนต์บริการ SRT BOT ให้บริการ 6 ตัว และ Smart Wheelchair มี 7 ตัว
เปิดตัว หุ่นยนต์บริการนำทาง
ล่าสุด รัฐสภา หรือ สัปปายะสภาสถาน ได้ทดสอบระบบ หุ่นยนต์บริการ นำทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาคนหลงทาง สำหรับผู้ที่มาร่วมประชุม หรือติดต่อราชการ เนื่องจากอาคารรัฐสภามีพื้นที่และห้องประชุมจำนวนมาก ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อ สนนราคาหากจัดซื้อตัวละ 500,000 บาท และอาจต้องซื้ออย่างน้อย 3 ตัว หลังผลทดสอบเป็นที่น่าพอใจ
– สำหรับขั้นตอนเพียงแค่รู้ว่าตัวเองจะต้องไปที่ห้องไหน
– กรอกข้อมูลลงไปที่หน้าจอ ของ “หุ่นยนต์บริการ” เพียงเท่านี้ ก็จะนำทาง ไปยังที่หมาย
– เมื่อส่งถึงที่หมายแล้ว “หุ่นยนต์บริการ” จะกลับมายังที่จุดเริ่มต้น เพื่อรอให้บริการคนต่อไป หรือหากเจอระหว่างทาง สามารถเรียกใช้บริการได้ทันที
สัปปายะสภาสถาน (อาคารรัฐสภา) สี่แยกเกียกกาย ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีพื้นที่ดิน 119.6 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร เป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ อาคารสูง 9 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น รวม 11 ชั้น ใช้งบประมาณก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท
ขอบคุณภาพ : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา