อินฟลูเอนเซอร์ กับการชงยกร่างกฎหมายควบคุม อินฟลูเอนเซอร์ แม้จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงบางรายการ แต่ชัดส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง อย่างนำเสนอข่าวปลอม การชักจูง ชวนเชื่อ การสร้างคอนเทนต์หวังแค่ยอดวิว โดยไม่คำนึงผลที่ตามมา เทียบเคียงต่างประเทศที่มีการคุมเข้ม และป้องกันละเมิดเด็ดขาด!!
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 – ภาพรวมปี 2566 ข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 เรื่อง อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) พบว่า
– ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มี อินฟลูเอนเซอร์ รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน
– ประเทศไทยมี อินฟลูเอนเซอร์ กว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน
– ประเทศอินโดนีเซีย อันดับ 1 การขยายตัวของ อินฟลูเอนเซอร์ ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณา หรือรีวิวสินค้า
– อินฟลูเอนเซอร์ ในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี
ลักษณะเด่น อินฟลูเอนเซอร์ไทย
– อินฟลูเอนเซอร์ไทย ได้รับความสนใจ สามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์
– การแข่งขันผลิตคอนเทนต์ และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (Engagement) อินฟลูเอนเซอร์ มักสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแส โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่
– อินฟลูเอนเซอร์ อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ อาทิ นำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เช่น การเผยแพร่ข่าวปลอม หรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ จากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำปีงบ 2566 ของดีอีเอส ผู้โพสต์เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี เป็นจำนวนข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือน รวมกว่า 5,061 เรื่อง
– การชักจูง หรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่าน อินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 พบว่าคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 7.4 แสนคน โดยส่วนใหญ่ 87.7% พบเห็นการโฆษณา หรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1 ล้านคน
– การละเมิดสิทธิ อินฟลูเอนเซอร์ บางราย นำเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด และทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คน หรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลงคอนเทนต์ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
– พบ อินฟลูเอนเซอร์ หยิบเนื้อหาบางประเภท อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม อาทิ อวดความร่ำรวย จากการศึกษาของ ม.มหิดล พบกลุ่มเจนซี (Gen Z) จำนวน 74.8% เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด หรือพยายามสร้างมาตรฐานความงามที่ผิด ให้กับเด็กและเยาวชน จนอาจก่อหนี้เพื่อซื้อสินค้าและบริการ
เทียบต่างประเทศ กฎหมายควบคุม อินฟลูเอนเซอร์
– สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่ผิดกฎหมาย
– นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้ อินฟลูเอนเซอร์ แจ้งรายละเอียดภาพบุคคล ที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย แสดงเครื่องหมายกำกับ
– ไทย ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่ม อินฟลูเอนเซอร์ ชัดเจน มีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522, ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.…(อยู่ระหว่างพิจารณา)
อินฟลูเอนเซอร์ คือใคร??
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ความหมายแบบกว้างๆ จะเป็นคนที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลตามแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ Facebook, Instagram, Tiktok, Twitter หรือ Youtube มีหน้าที่หลัก ในการสร้างและผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ อย่าง ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ในเรื่องที่น่าสนใจ คนเข้าถึงได้ง่าย ๆ อาทิ อาหาร ความงาม แฟชั่น การท่องเที่ยว ภาพยนตร์ ฯลฯ ส่งผลถึงกลุ่มผู้ติดตาม จนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือทัศนคติ
ที่มา : ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์