ราคา ตั๋วเครื่องบินแพงมาก…ชาวบ้านบ่นเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ว่าจะซื้อเทศกาล หรือไม่เทศกาล ก็ไม่ต่างกัน ยิ่งช่วงสุดสัปดาห์ อย่างวันศุกร์ หรือวันเริ่มต้นสัปดาห์ อย่างวันจันทร์ ราคาก็หายห่วง คือแพงยับ!! ยิ่งจังหวัดที่ยอดฮิตของนักเดินทาง นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยหรือต่างชาติ แพงตลอด โดยเส้นทาง กทม.- ภูเก็ต พบถูกร้องเรียนมากที่สุด
เสียงบ่น ตั๋วเครื่องบินแพง ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีคำชี้แจงทำนองว่า เป็นไปตามต้นทุนและกลไกตลาด แต่ไม่จบเพียงเท่านี้ มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทั่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพราะถูกมองว่า เป็นการเอาเปรียบประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ฉกฉวยโอกาสที่ประเทศกำลังบูมเรื่อง ท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการค่ากำไรเกินควร
แจงสาเหตุที่ทำให้ ตั๋วเครื่องบินแพง
มีคำอธิบายจากรายงานสถานการณ์ค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศ ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ประจำเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่า อัตราค่าโดยสาร (ต่อเที่ยว) หรือ ตั๋วเครื่องบิน ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้รับการร้องเรียนว่า ค่าโดยสารราคาแพงมากที่สุด พบว่า อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย ซึ่งต่ำกว่าราคา 2,500 บาท คิดเป็น 82.5% ของตั๋วโดยสารทั้งหมด ในขณะที่ราคาสูงกว่า 2,500 บาท คิดเป็น 17.5% โดยราคาบัตรโดยสาร จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาล ผู้โดยสารจะได้ราคาต่ำที่สุด เมื่อจองตั๋วล่วงหน้านานๆ และจะค่อยๆ แพงขึ้นจนถึงราคาสูงสุด ไม่เกินเพดานที่กำหนด เมื่อซื้อตั๋วกระชั้นชิดกับวันที่ต้องการเดินทาง
“ในกรณีที่จองหรือซื้อ ตั๋วเครื่องบิน ในระยะเวลากระชั้นชิด แสดงให้เห็นถึงลักษณะตลาดที่เป็นของผู้ขาย เป็นผลจากการที่ปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศปัจจุบัน มีสูงขึ้นมาก เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าออกประเทศไทย มากกว่า 140,000 คนต่อวัน และเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเอง ในขณะที่ความสามารถของระบบการบิน ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ทำให้ตั๋วโดยสารในบางช่วงเวลา เป็นที่ต้องการมาก แม้จะมีราคาสูงมากก็ตาม”
หนทางแก้ปัญหา ตั๋วเครื่องบินแพง
CAAT ได้สรุปการวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการรองรับ จนเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ ตั๋วเครื่องบิน มีราคาสูงในปัจจุบัน ประกอบด้วยปัจจัยหลักต่างๆ พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการแก้ไข ดังนี้
1. บริการภาคพื้น (Ground Handling) ที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่เพียงพอ มีเพียง 50% เท่านั้น ส่งผลให้สายการบิน ไม่สามารถเข้ามาทำการบินได้ ทำให้จำนวนเที่ยวบิน มีไม่พอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
- แก้ไข : เพิ่มผู้ให้บริการภาคพื้นให้เพียงพอ โดยการพิจารณาเสนอให้ยกเลิกมติ ครม.ที่กำหนดให้มีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย โดยให้ ทอท.อนุญาตให้สายการบินที่มีศักยภาพ ที่มีเที่ยวบินจำนวนมากพอ รับผิดชอบการบริการภาคพื้นด้วยตนเองได้ ในช่วงที่ยังมีผู้ให้บริการไม่เพียงพอ และเร่งจัดหาผู้ประกอบการมาดำเนินการชั่วคราวอย่างเร่งด่วน
2. การบริหารจัดการตารางเวลาการบิน (Slot Allocation) ซึ่งแม้จะเป็นไปตามกติกาสากล แต่การที่สายการบินที่ได้รับการจัดสรรตารางเวลาการบิน ทำการยกเลิกเที่ยวบินบางส่วนภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งสายการบินมีสิทธิกระทำได้ แต่ส่งผลทำให้ไม่มีเที่ยวบินรองรับเพียงพอ ตามตารางเวลาที่ถูกจัดสรรไว้แล้ว ทำให้สายการบินอื่น ไม่สามารถจองเข้ามาทำการบินได้ในเวลานั้นๆ เมื่อยกเลิกจึงเหลือเที่ยวบินน้อย
- แก้ไข: ควรเพิ่มมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Positive Incentive Measure) ให้กับสายการบินที่คืนตารางเวลาทันทีที่ทราบว่าจะไม่ปฏิบัติการบินตามที่ได้รับการจัดสรร โดยไม่ต้องรอแจ้งในวันสุดท้ายที่กำหนดไว้ในกติกา หรือกระชั้นเกินไปเพื่อให้เพิ่มเที่ยวบินเข้ามาแทนที่ได้ทัน เนื่องจากสายการบินที่จะเข้ามาทำการบินในช่วงเวลาที่ว่างนั้นจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมเช่นกัน
3. สายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอ สำหรับการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการ
- แก้ไข: เร่งกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตให้สายการบิน สามารถจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินจัดหาอากาศยาน มาใช้เพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็ว
4. ความคล่องตัวในการซ่อมบำรุงอากาศยาน การต้องนำอากาศยานไปซ่อมต่างประเทศ ทำให้อากาศยานหายไปจากระบบ ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
- แก้ไข: ระยะยาว ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อม ที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ส่วนระยะสั้น พิจารณาให้สายการบินของไทย สามารถใช้ศูนย์ซ่อมของการบินไทย ซึ่งมีศักยภาพสูงได้ โดยการผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. ความต้องการเดินทางในเส้นทางบิน ที่มีสายการบินน้อยราย หรือรายเดียวทำการบิน เนื่องจากตลาดของสนามบินบางแห่ง ยังไม่เป็นที่นิยม มีความต้องการเดินทางต่ำ ทำให้สายการบินที่ทำการบิน ต้องกำหนดอัตราตั๋วโดยสารไว้แพง เพื่อให้คุ้มค่าต้นทุน ยิ่งตั๋วแพงจำนวนผู้โดยสารก็ยิ่งน้อยลงไปตามกลไกตลาด
- แก้ไข: ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ที่ไทยจะใช้นโยบายอุดหนุน
สำหรับสายการบินที่ปฏิบัติการบิน ไปยังสนามบินที่ไม่ใช่ตลาดหลัก เช่น สนามบินในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง สนามบินที่ยังไม่เป็นที่นิยม ฯลฯ ซึ่งเป็นนโยบายที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกและประสบความสำเร็จ โดยการเปิดประมูลให้สายการบินเข้าแข่งขัน เพื่อกำหนดราคาตั๋วโดยสารที่ต่ำ หรือจูงใจให้ผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างให้กับสายการบิน แม้รัฐจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่จะช่วยให้นโยบายส่งเสริมเมืองรองได้ผล เช่นเดียวกับอินเดียและหลายๆ ประเทศ ที่ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จมาแล้วเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังช่วยให้มีการใช้สนามบินคุ้มค่าขึ้นอีกด้วย
แนะเลี่ยงซื้อ ตั๋วเครื่องบิน กระชั้นชิด ชี้ราคาจะไม่สูงจนเกินไป
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ในการทำให้ราคา ตั๋วเครื่องบิน ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น ทั้งในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การทยอยอนุญาตให้สายการบินนำเข้าอากาศยานเพิ่มเติม การเร่งแก้ปัญหาการบริการภาคพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งให้เร่งดำเนินการในแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่เสนอ
นอกจากนั้น ยังให้ CAAT ติดตามตรวจสอบราคาค่าโดยสารภายในประเทศอย่างสม่ำเสมอ ขอความร่วมมือจากสายการบิน ให้จัดจำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงวิธีการกำหนดราคาของสายการบินซึ่งเป็นหลักการทั่วไป ทั้งนี้ หากหลีกเลี่ยงการซื้อ ตั๋วเครื่องบิน ในระยะเวลากระชั้นชิดได้ ก็จะทำให้สามารถซื้อตั๋วได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
ทุกมาตรการที่แจกแจงมาจะสำเร็จ!! สัมฤทธิ์ผลเพียงใด?? ก็ต้องจับตากัน ก็หวังว่าจะไม่เป็นเพียงอธิบายเพื่อให้เข้าใจ…ทำใจ… มากกว่าจะแก้ไขได้จริง ?! หวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ หรือผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง จะเห็นถึงปัญหาและแก้ไข ตั๋วเครื่องบินแพง อย่างจริงจังต่อไป สาธุ!!!