“ไทยแลนด์” เลื่องลือว่าร่ำรวยด้วย ศิลปะและวัฒนธรรม “สงกรานต์” อีกบทพิสูจน์อวดสายตาชาวโลก จากภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย สู่มรดกโลก ที่ยูเนสโกเตรียมพิจารณาปลายปี 2566
“ประเพณีสงกรานต์” องค์การยูเนสโกเตรียมเข้าพิจารณาขึ้นทะเบียน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม นี้ โดยถือเป็นนิมิตหมายอันดี ในการเผยแพร่อัตลักษณ์ความงามของ “สงกรานต์” ประเพณีที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยม ให้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย ที่ได้ผูกวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ท้องถิ่น เข้ามาร่วมผสมผสานกันได้อย่างกมลกลืนและสวยงาม
เมื่อต้นปี 2566 เว็บไซต์ องค์การยูเนสโก รายงานว่า อนุมัติให้ประเพณีสงกรานต์ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น Tentative list เพื่อพิจารณาในที่ประชุม ให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย
วันมหาสงกรานต์ปีนี้ ทุกจังหวัดได้เชิญชวนประชาชนใส่เสื้อลายดอกแบบไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ อวดสู่สายตาชาวโลก โดยปีนี้องค์การยูเนสโก ได้เข้ามาสังเกตการณ์ ก่อนจะเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมด้วย
ไทม์ไลน์: ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยสู่มรดกโลก
ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2565 ไทยได้เสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ทั้งสิ้น 5 รายการ และประเทศไทยเคยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage – ICH) มาแล้ว ได้แก่
- “โขน” ขึ้นทะเบียนปี 2561
- “นวดไทย” ขึ้นทะเบียนปี 2562
- “โนรา” ของภาคใต้ ขึ้นทะเบียนปี 2564
- “ประเพณีสงกรานต์” จะพิจารณาในปี 2566
- “ต้มยำกุ้ง” จะพิจารณาในปี 2568
- “ผ้าขาวม้า” จะได้รับการพิจารณาในปี 2570
“สงกรานต์” วัฒนธรรมที่มีชีวิต ตามวิถีไทย
“ประเพณีสงกรานต์” การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตา ต่อผู้ใหญ่และบุคคลที่เคารพรัก คนไทยนิยมเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระวันสงกรานต์ ใครที่อยู่ห่างไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย
วันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ ระบุว่า เป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำใส่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งยังมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ทำให้นิยมเล่นสาดน้ำ และประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะไม่ถือโทษโกรธกัน
ขอบคุณภาพ : ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.