“หลวงพระบาง” ความท้าทายบนความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลง จับตาคณะกรรมการมรดกโลก เล็งพิจารณา 21 – 31 ก.ค. ถอดพ้นสถานะเมืองมรดกโลกหรือไม่ หลังกระแสการพัฒนาสวนทางกับการอนุรักษ์ ทั้งวิถีดั้งเดิม และภูมิศาสตร์
เมื่อพูดถึง “หลวงพระบาง” คิดถึงอะไร..?? เมืองแห่งถิ่นมรดกโลก การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ธรรมชาติอันล้ำค่า และวิถีชีวิตชาวลาวแบบดั้งเดิม โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นอีกประเด็นร้อนในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ กับความท้าทายที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อคณะกรรมการมรดกโลก เตรียมบรรจุอยู่ในลิสต์รายชื่อนึง ที่เสี่ยงอาจจะถอด “หลวงพระบาง” ของ สปป.ลาว พ้นจากสถานะเมืองมรดกโลก TOPPIC Time จับตาและขอนำมาพูดคุยก่อนประเด็นจะพัฒนาไปอีก เพื่อเฝ้าติดตามไปพร้อม ๆ กัน และนำมาร่วมกันถอดบทเรียน เพราะไทยเองก็มีหลายสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกถึง 7 แห่ง ล่าสุด “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์
ปัจจัย ‘หลวงพระบาง’ เสี่ยงถูกถอดพ้นมรดกโลก
- มีความกังวลจากหลายด้าน ที่ ‘ยูเนสโก’ UNESCO ตั้งข้อสังเกตไว้ในกรณีความเปลี่ยนแปลงไปของ หลวงพระบาง เช่น ย่านเมืองเก่าเกิดการพัฒนาใหม่ ๆ ทำให้อาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างดั้งเดิม รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสูญหายไปมาก (ข้อห้ามหนึ่งที่กำหนดว่า หากจะเปลี่ยนแปลงต้องได้รับการอนุญาต และต้องทำให้เหมือนรูปแบบคงเดิม)
- การสร้างสะพานในแม่น้ำคาน อาจมาแทนที่สะพานไผ่ จนอาจเกิดผลกระทบกับวิถีดั้งเดิม และภูมิศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะธรรมชาติ รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง จากการร่วมทุน ไทย-ลาว เปลี่ยนแปลงสภาพเมืองริมน้ำ
- การท่องเที่ยวหลวงพระบางที่เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (พุ่งเกือบ 8 แสนคน) ยากต่อการดูแลควบคุม ล่าสุดซินหัว รายงานช่วงเดือน เม.ย. (ปีใหม่ลาว) มีนักท่องเที่ยวกว่า 1.1 แสนเพิ่มขึ้นร้อยละ 364.44 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม
- มีการเก็งผลกำไรจากนักธุรกิจ และนักลงทุน หลังราคาที่ดินในหลวงพระบางพุ่งสูง ทำให้คนท้องถิ่นเลือกที่ขายหรือให้เช่า และออกไปอยู่นอกเมืองแทน จนทุกวันนี้เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ในหลวงพระบาง เริ่มมีชาวเวียดนาม และจีน เพิ่มขึ้น
เสียงสะท้อนความกังวลปมถอด ‘หลวงพระบาง’
อดีตรองผู้อำนวยการยูเนสโก และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น ระบุตรงกันว่า หลวงพระบางอาจถูกถอดได้จากปัจจัยข้างต้น และความต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสวนทางกับการอนุรักษ์ เกิดความขัดแย้งทางความคิด รวมไปถึงคนในพื้นที่เกิดความไม่พอใจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ข้อจำกัดการปรับปรุงอาคารบ้านเรือนของตน และขาดเงินสนับสนุนเพื่อรักษาโครงสร้างเก่า ๆ จากคำบอกเล่าของผู้ประกอบการท้องถิ่นบางราย ในขณะที่บางรายก็กังวลว่า หากหลวงพระบางถูกถอดจริง อาจส่งผลจากการรุกรานจากนักลงทุน และมหาอำนาจในภูมิภาค การดำรงอยู่อาจเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือร่องรอยดั้งเดิม เพราะเห็นว่าการเป็นมรดกโลกยังเป็นปราการสำคัญที่ช่วยค้ำยันกระแสไหลบ่าจากบรรดานักกอบโกย และการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง
‘หลวงพระบาง’ ราชธานีเก่าแก่ที่สุดของลาว
– “หลวงพระบาง” เมืองเก่าแก่ที่สุดของลาว และเป็นราชธานีเก่า มีประวัตินับพันปี ที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำ 2 สาย คือ น้ำโขงและน้ำอาน
– หลวงพระบาง ตั้งชื่อตาม “พระบาง”(พระพุทธรูปศิลปะสิงหล) พระพุทธรูปสีทองที่พระเจ้าแผ่นดินเขมรพระราชทานให้กับกระเจ้าฟ้างุ้มในศตวรรษที่ 14
– ได้รับการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2496 จึงยังคงหลงเหลืออิทธิพล เช่น อาคารในรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ และเคยเป็นเมืองหลวง ก่อนย้ายมาที่เมืองเวียงจันทน์
– หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกเกือบทั้งเมือง เมื่อธันวาคม 2538 (1995) มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกกำหนดเป็นทางการ 228 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นทางธรรมชาติ 111 แห่ง มรดกวัฒนธรรม 78 แห่ง และสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ 39 แห่ง และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– ปัจจุบันเมืองหลวงพระบางมีประชากรประมาณ 5 แสนคน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ประสบการณ์การเยือนหลวงพระบาง
จากที่เคยไปเยือนเมื่อ 10 ปีก่อน บอกเลยว่า หลวงพระบาง ยังเป็นอัญมณีที่ล้ำค่าในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะภูมิทัศน์ชนบท ที่ทรงคุณค่า ความดิบ ๆ ที่คงมนต์เสน่ห์ วิถีชีวิตของผู้คน หากการไหลบ่าของการพัฒนาสามารถควบคุมและดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ ก็จะเป็นอีกแหล่งประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกและกล่าวขานในภูมิภาคนี้ จึงถือเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายบนความเปลี่ยนแปลง คงต้องมาวัดใจว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 21-31 ก.ค.นี้ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย กรณีหลวงพระบาง จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกไม่ กับความท้าทายบนความเปลี่ยนแปลงไป!!…