วันลอยกระทง มาถึงแล้ว เพลงลอยกระทง…ก็ต้องมา! วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง ที่เหลือไปร้องกันเองนะ เพราะวันนี้ TOPPIC Time ไม่ได้จะมาร้องเพลง และถ้าร้องจริง..ก็คงไม่ชวนฟัง 555 แต่ที่แน่ๆ เราจะมาเล่าเรื่องเทศกาล วันลอยกระทง ให้ฟัง
เพราะเราเชื่อว่า…หลายคนรู้แค่ว่า วันลอยกระทง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า วันลอยกระทงนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ในจีนและอินเดียโบราณด้วยนะ เรื่องเล่าวันนี้ เริ่มน่าสนใจแล้วสินะ เราเองก็อยากรู้เช่นกัน ไปรู้ลึก วันลอยกระทง แบบง่ายๆ พร้อมๆ กัน ซึ่ง TOPPIC Time จะอาสาสรุปให้ฟังจ้า
รู้ลึก 10 ประวัติ วันลอยกระทง ตำนานที่มาของเทศกาลวันเพ็ญเดือน 12
1. วันลอยกระทง คือ?
เทศกาลวันลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเป็นประเพณีที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ตามหลักความเชื่อในศาสนาฮินดู ที่ถือว่าแม่น้ำคงคามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก และมีรูปบุคลาธิษฐานเป็นเทวี พระนามว่า พระแม่คงคา การได้ลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ในความเป็นไทยแล้ว การลอยกระทงจึงถือเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา และยังเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อพระแม่แห่งสายน้ำ ที่ตลอดทั้งปีเราอาจทิ้งขยะ ทิ้งสิ่งไม่ดีลงไปในน้ำนั่นเอง
2. วันลอยกระทง ตรงกับวันที่…?
วันลอยกระทง จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือที่เรียกว่า วันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน แต่จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับปี 2564 นี้ จะตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 แต่ปีที่แล้ว 2563 วันลอยกระทง ก็ตรงกับวันฮาโลวีนพอดี ก็กลายปี ลอยกระทงแบบผีๆ กันไปเลยจ้า ขณะที่ปีหน้า 2565 วันลอยกระทงจะตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นั่นเอง
3. ทำไม วันลอยกระทง ถึงปรากฏหลักฐานของจีนและอินเดีย
รู้หรือไม่ วันลอยกระทง เป็นเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ไททางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในนั้นก็รวมทั้งประเทศไทยเข้าไปด้วย แต่เทศกาลนี้ก็มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีนและอินเดียโบราณ เพราะเราต่างเคยนับถือ ศรัทธา จนได้รับประเพณีในศาสนาฮินดูมาก่อนเช่นกัน อย่างในประเทศพม่าเทศกาลลอยกระทงจะใช้ชื่อว่าเทศกาลตาซองไดหรือ Tazaungdaing ส่วนในประเทศจีน จะเรียกว่า เทศกาลโคมลอย หรือ Lantern Festival
4. ที่มาของ วันลอยกระทง
ว่ากันว่า ประเพณี วันลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดีย ที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติแต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
5. คำสันนิษฐาน วันลอยกระทง สมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ที่ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดีย และแม่น้ำสายน้ำยังแบ่งเขตอินเดีย ออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้ด้วย
6. ตำนานวันลอยกระทง ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
ตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ ได้แต่เล่าๆ สืบต่อกันมา จนระบุไว้ว่า ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มี “นางนพมาศ” หรือ “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า “พิธีจองเปรียง” ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง มาใช้ใส่เทียนประทีป ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า
7. โคมลอยรูปดอกบัว
“แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสานแต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่า ไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
8. ก่อนจะมาเป็น “ลอยกระทง” ก็เคยเป็น “ลอยบัว” หรือ “ลอยกล้วย” มาก่อน
โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วย เพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวย จึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
9. “ลอยโคม” ในวันลอยกระทง
ในภาคเหนือของไทย วันลอยกระทง นิยมทำโคมเพื่อไว้ลอยเรียกว่า “ลอยโคม” หรือ “ว่าวลม” หรือ “ว่าวไฟ” โดยทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน แต่ประเพณีของชาวเหนือนี้จะเรียกว่า “ยี่เป็ง” ซึ่งหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย
10. ที่เที่ยวทั่วไทย วันลอยกระทง
จริงๆ แล้วทั่วประเทศไทย จะมีการจัดงาน วันลอยกระทง ขึ้นในทุกจังหวัด อย่างภาคเหนือ ก็มีประเพณี “ยี่เป็ง” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปางก็มา มีประเพณี “ล่องสะเปา” ที่สะเปาหมายถึงกระทงนั่นเอง ส่วนที่ตาก จะลอยกระทงขนาดเล็ก ทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า “กระทงสาย” ขณะที่สุโขทัยก็คึกคัก เพราะถือเป็นต้นกำเนิดตำนานนางนพมาศ ซึ่งมักจะมีขบวนแห่โคม ชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง
ส่วนภาคอีสานนั้นในอดีต จะมีการเรียกประเพณีลอยกระทงว่า “สิบสองเพ็ง” หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น ร้อยเอ็ด จะมีชื่องานประเพณีว่า “สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” สกลนครในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้ง
ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง อย่างกรุงเทพมหานคร ก็มีงานภูเขาไฟ งานวัดที่จัดกันเนิ่นนาน 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง ซึ่งก็ไปแล้วฟินจริงๆ แต่ก็น่าเสียดาย โควิดอาจทำให้พลาดไปหลายงานเลย ส่วนอยุธยาก็จัดเต็ม กับงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่า ที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สุดท้ายภาคใต้ก็มีที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดสงขลา งานก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่อื่นๆ เลย
ฟังแล้ว…ก็แอบสนุกไปพร้อมๆ กับบทความ 10 ประวัติ ตำนาน ที่มา ของวันลอยกระทง ซึ่งช่วงวิกฤติโควิดแบบนี้ หลายที่อาจไม่ได้จัดงาน ก็ไม่ต้องเสียใจกันไป ตรงไหนใกล้น้ำ ก็ลอยกระทง กันได้ ส่วนใครไม่สะดวก ในอ่างน้ำที่บ้าน หรือจะจุดธูปขอขมาพระแม่คงคา แค่นั้น…ก็สามารถทำได้เช่นกัน
แต่ถ้าใครไปลอยกระทงที่ไหน เอารูปมาฝากพวกเราชาว TOPPIC Time ด้วยนะ
สุขสันต์วัน ลอยกระทง จ้า.