นับเป็นเรื่องเศร้าเรื่องที่ 3 ของช่วงเวลา 2-3 วันนี้ กับวงการเพลงและวงการดนตรีของประเทศไทย ด้วยข่าวการจากลาอย่างไม่มีวันกลับ ของผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการสุดเลื่องชื่อ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 มีข่าวการสูญเสียชีวิตอย่างฉับพลันของนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง “พรศักดิ์ ส่องแสง” ในวัย 61 ปี และจนมาถึงช่วงดึกของคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2564 กับข่าวการจากไปด้วยไป 57 ปีของนักร้องชื่อดังอย่าง “อ๊อด คีรีบูน” ผู้ชายที่มีเสียงเสนาะตราตรึงหัวใจคนไทยทุกคน และล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 ตุลาคม 2564) TOPPIC Time ได้ทราบความสูญเสียอีกครั้ง กับการเดินทางที่แสนยาวไกลของ “บรูซ แกสตัน” หรือ “Bruce Gaston” ที่ได้จากลาไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับในวัย 74 ปี
โดยเมื่อหลายคนในวงการดนตรีได้ทราบข่าว ก็แสดงความเสียใจผ่านเฟซบุ๊กของอาจารย์บรูซ แกสตัน ซึ่งล่าสุดเฟซบุ๊กของอาจารย์บรูซ แกสตัน ได้มีการโพสข้อความ…
“To Our Beloved Father & Teacher
1964 – 2021
Bruce Gaston
Your memories will never fade.”
ทั้งนี้ บรูซ แกสตัน เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการดนตรีบ้านเรา เพราะได้นำดนตรีสากลจากฝากตะวันตก มาประยุกต์กับดนตรีไทย ได้อย่างลงตัวจนเกิดการเรียนการสอนต่อไป และเกิดลูกศิษย์ลูกหามากมาย ด้วยความสามารถจนเรียกได้ว่าเป็น “บรมครู” คนหนึ่งของไทย ถูกยืนยันด้วยรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเขาเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ ทีนี้เราไปรู้จัก บรูซ แกสตัน กันให้มากขึ้น เพื่อสดุดีความมุ่งมั่นและความอุทิศทุ่มเททั้งชีวิตให้กับเรื่องราวของดนตรีไทยร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน
10 ประวัติ ‘บรูซ แกสตัน’ อาลัยบรมครูดนตรีร่วมสมัยวง ‘ฟองน้ำ’
1. บรูซ แกสตัน เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2490 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่รักในเสียงดนตรี และได้รับการบ่มเพาะให้เล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เมื่อเติบโตจึงมีความถนัดในเครื่องเปียโน ออร์แกน และวิชาขับร้องประสานเสียง
2. บรูซ เริ่มเป็นนักดนตรีชาวอเมริกัน ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ในสาขาด้านทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลงและปรัชญา และจบปริญญาโทในปี 2512 ด้วยอายุเพียง 20 ต้นๆ
3. จากนั้นชีวิตก็เริ่มหักเห ท่ามกลางความขัดแย้ง และมีการเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันเข้าสู่สงครามเวียดนาม หลังจากเรียนจบบรูซจึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 22 ปีเป็นต้นมา โดยเขาเลือกที่จะมาเป็นครูสอนดนตรีในประเทศไทย
4. ในปี พ.ศ. 2514 บรูซ แกสตัน ได้ไปเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ โรงเรียนประถมในจังหวัดพิษณุโลก เขาทุ่มเทแรงกายให้กับเด็กๆ อยู่ถึง 6 เดือน จากนั้นได้เป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรก ให้กับหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
5. จุดเปลี่ยนพลิกผันอยู่ที่หอพักอยู่ติดป่าช้า บรูซ ได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์จากงานเผาศพทุกวัน จึงทำให้เกิดความสนใจ และยังพบความมหัศจรรย์ว่า คนที่เล่นปี่พาทย์นางหงส์เป็นเด็กวัย 10 ขวบเท่านั้น นี่คือแรงบันดาลใจในเรื่องดนตรีไทยของบรมครู
6. ถึงแม้จะเคยกลับไปบ้านเกิดที่อเมริกาหลังสอนหนังสือได้ 2 ปี แต่บรูซก็ยังคงคิดถึงเสียงดนตรีไทย และเดินทางกลับมาใช้ชีวิตต่อในประเทศไทยของเรา เขาเริ่มเรียนรู้และทุ่มเทให้กับดนตรีไทยมากขึ้น ได้เรียนตีระนาดเอก หัดปี่พาทย์ กับบรมครูทั้งสิ้น แล้วเขาก็ได้ลองนำดนตรีไทย มาประยุกต์กับดนตรีสากลจนเกิดเป็นอุปรากรเรื่อง “ชูชก”
7. ดนตรีไทยเป็นส่วนสำคัญในชีวิต บรูซ แกสตัน มากขึ้น และเต็มตัวเมื่อไปขอเป็นศิษย์ “ครูบุญยงค์ เกตุคง” นักระนาดชั้นเยี่ยม การบ่มเพาะความรู้ การฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา จนเกิดการผสมผสานกันอย่างลงตัว จนกลายเป็น “ดนตรีไทยร่วมสมัย”
8. วง “ฟองน้ำ” ที่โด่งดังเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2524 โดย บรูซ แกสตัน ร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง โดยนำเสนอดนตรีไทยเดิม มาผสมผสานกับดนตรีแบบตะวันตก โดยยึดเอาแก่นความคิดดนตรีของทั้ง 2 ฟาก มาผสมผสานโดยกลวิธีต่างๆ
9. เวลา 40 กว่าปีกับแวดวงดนตรี บรูซ แกสตัน ได้สมรสกับ ผศ.สารภี แกสตัน อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรชายคือ ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน หรือ เท็ดดี้ มือกีตาร์วงฟลัวร์ และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จากการเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีการละคร ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
10. ผลงานการประพันธ์เพลงและความสำเร็จต่างๆ ถูกจารึกไว้มากมาย มีรางวัลการันตีความสามารถ โดยบรูซ ได้รับการยกย่องจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเขาเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ นอกจากนี้ บรูซ ยังเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับนักร้อง และมีลูกศิษย์คนสำคัญ อาทิเช่น ณรงฤทธิ์ ธรรมบุตร, ไกวัล กุลวัฒโนทัย, อานันท์ นาคคง, จิระเดช เสตะพันธุ, บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ, วาณิช โปตะวนิช และ ดำริห์ บรรณวิทยกิจ เป็นต้น
สำหรับพิธีศพของอาจารย์ บรูซ แกสตัน จะจัดขึ้น ณ ศาลาเสถียรไทย วัดธาตุทอง
- ในวันที่ 17 ตุลาคม 2564 จะมีพิธีรดน้ำศพเวลา 16.00 น. สวดอภิธรรมศพเวลา 18.00 น.
- ในวันที่ 18-20 ตุลาคม 2564 สวดอภิธรรมศพเวลา 18.30 น.
- วันที่ 21 ตุลาคม 2564 พิธีฌาปนกิจเวลา 17.00 น.
อย่างไรก็ตาม TOPPIC Time ขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวของ “บรูซ แกสตัน” บรมครูด้านดนตรีไทยร่วมสมัย และผู้ร่วมก่อตั้งวง ฟองน้ำ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ไปปั๊มเดี๋ยวนี้! ปรับขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิด 60 สต.
แนวทางวัคซีนเข็ม 3! สธ.ไม่แนะนำ ฉีดซิโนฟาร์ม 3 เข็มรวด
แจ้งเตือน 22 จังหวัด เสี่ยงดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก
รวบลูกฆ่าพ่อโหด อ้างพ่อคลั่งไสยศาสตร์
เร่งรวบรวมข้อมูล เงินหายจากบัญชี ผู้แห่ทยอยแจ้งความ
5 วิธีปฏิบัติเมื่อบัญชีธนาคารถูกหักเงิน!!
โควิดวันนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่น!
คลายล็อคพื้นที่แดงเข้ม สธ.เตือนให้คิดว่าทุกคนติดเชื้อ!