ห่วงวัยรุ่น-เยาวชน พบติดเอชไอวีสูง หน้าใหม่ติดเชื้อเกือบหมื่นคน กลุ่มอายุ 15 – 24 ปี ขณะที่ผู้ติดเชื้อซิฟิลิส-หนองในสูง 1.4 หมื่นคน ย้ำใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แจงชัด HIV กับ AIDS แตกต่างกัน
กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชน
– ในปี 2565 คาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 คน
– เกือบครึ่งเป็นกลุ่มอายุระหว่าง 15-24 ปี
– มีสัดส่วนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบการรักษาถึงร้อยละ 22.4 เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2551 ที่ร้อยละ 9.5
– ยังพบผู้ติดเชื้อซิฟิลิสและหนองใน สูงถึง 14,534 คน
– ข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการ ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2562 พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ เพียงร้อยละ 80
– ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งกับแฟน และคนรักไม่ถึงร้อยละ 40
จับมือเครือข่ายหามาตรการป้องกันเอชไอวี
– กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชน พกและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง
– ช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมด้วย
– สามารถรับถุงยางอนามัยได้ฟรี ที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ
– จัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และชวนเพื่อนใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
– ส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชน เข้าถึงการตรวจคัดกรองเอชไอวี-ซิฟิลิส สนับสนุนชุดตรวจคัดกรอง แบบรู้ผลเร็ว 20 นาที ให้กับ 53 จังหวัดปี 2565 ขยายทั้ง 77 จังหวัดปี 2566
– สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
เปิดทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจเอชไอวี
-คนไทยทุกคนตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ฟรี เข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในเมนูกระเป๋าสุขภาพ และรับชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนร้านขายยาที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566
-ค้นหาข้อมูลได้ที่ https://buddystation.ddc.moph.go.th/ หรือ facebook fanpage: buddystation
-สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 – กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 02 590 3217
‘เอชไอวี’ แตกต่างกับ ‘เอดส์’
คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดระหว่าง ‘เอชไอวี’ กับ ‘เอดส์’ ว่าเป็นโรคเดียวกัน ยังรวมถึงการติดเชื้อและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
HIV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะยึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากไม่รับการรักษา ระดับ CD4 ลดต่ำลงเรื่อยๆ จะทำให้ป่วยเป็นเอดส์ได้
AIDS คือ คนที่ติดเชื้อ HIV ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 ระบบภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนไม่สามารถต้านทานโรค ได้ หรือเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” ร่างกายจึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย
แจงติดเชื้อเอชไอวี แบ่งเป็น 3 ระยะ
– ระยะแรก 2-4 สัปดาห์ ผู้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เจาะเลือดพบปริมาณไวรัสสูงมาก
- ระยะสงบ เชื้ออยู่ในร่างกายมักไม่แสดงอาการจะค่อย ๆ ทำลายเม็ดเลือดขาว และทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลงไปเรื่อย ๆ แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ ไม่ได้รับการรักษา 7-10 ปี จะพัฒนาสู่ระยะเอดส์
– ระยะเอดส์ ผู้ป่วยจะสูญเสียภูมิคุ้มกันโรคและจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง
ดังนั้น โรคเอดส์ และ HIV ไม่ใช่โรคเดียวกันเพียงแต่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางอาการเท่านั้น ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องมีอาการเอดส์ หากรู้เร็วด้วย การตรวจเลือด และรักษาเร็วด้วยยาต้านไวรัส
ข้อมูล : รพ.จุฬา สภากาชาดไทย