จับขบวนการลักลอบขายยาฟาวิพิราเวียร์ขายออนไลน์ พร้อมยึดของกลาง สารภาพรับจาก รพ.เอกชน โทษแรงคุก 3-5 ปี ทั้งจำ-ปรับ เร่งขยายผล อาจมีกระบวนการสวมสิทธิ์ผู้ป่วยเบิกยา…
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 มีรายงานว่า ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม แถลงจับกุมผู้ต้องหา 9 คน พร้อมตรวจยึดของกลางเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ ภายใต้ยี่ห้อยาฟาเวียร์ จำนวน 390 กล่อง หลังเข้าตรวจค้นสถานที่พบการลักลอบจำหน่าย ในพื้นที่ กทม. สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี รวม 8 จุด
ทั้งนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งขบวน รวม 9 คน ยอมรับสารภาพ 8 คน อีก 1 คน ปฏิเสธ ระบุว่า ได้ยาดังกล่าวมาจาก รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ที่สั่งซื้อในนาม รพ.จากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร ต้นทุนอยู่ที่กล่องละ 1,600 บาท แต่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ตกกล่องละ 4,000 – 8,000 บาท
สำหรับความผิดเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลว่า รพ.มีความเกี่ยวข้อง หรือมีความผิดในส่วนใดบ้าง รวมทั้งตรวจสอบย้อนหลังว่า มีการจำหน่ายมานานเพียงใด ส่วนของกลางตามกฎหมาย จะต้องส่งทำลายหลังสิ้นสุดคดี แต่กรณีนี้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ถูกต้อง มีความสำคัญต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจะทำเรื่องขอศาลพิจารณาให้นำไปใช้ประโยชน์สาธารณะ
ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รรท.รองเลขาฯ อย ระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ใช้สำหรับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคอุบัติซ้ำจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่าย และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะมีผลข้างเคียง จึงไม่สามารถขายให้กับประชาชนทุกช่องทางได้ ย้ำอย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองเด็ดขาด เพราะการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
“ยืนยันว่า ยาที่ถูกผลิตหรือนำเข้ามาในประเทศไทย โดยผ่าน อย. สามารถตรวจสอบเลขแสดงล็อตยา และมีการทำบัญชีการสั่งจ่ายยา ไปยังสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงการสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยโควิด ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับจำนวนยา ส่วนจะมีการสวมสิทธิ์ผู้ป่วยโควิด เพื่อเบิกยาหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่จากองค์การเภสัช หรือ อย. เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน” รรท.รองเลขาฯ อย. กล่าว.