จากไปอย่างสงบในวัย 79 ปี “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หลังได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมเปิดประวัติบรมครูศิลปินแห่งชาติ สาขานักร้องเพลงลูกทุ่ง…
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 เฟซบุ๊ก ไวพจน์ เพชรสุพรรณ โพสต์ข้อความระบุว่า ศิลปินรุ่นครู “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ได้เสียชีวิตอย่างสงบ หลังจากที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยข้อความมีรายละเอียด ดังนี้
“คุณพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณจากไปอย่างสงบที่ รพ. เวลาโดยประมาณ 15:24 น. คุณพ่อเริ่มป่วยเข้า รพ. ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่านอดทนและสู้มาก ตอนนี้จากพวกเราไปแล้ว แต่จะยังคงอยู่ในใจพวกเราตลอดไป”
TOPPIC Time ขอแสดงความเสียใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย กับการเสียชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลตากสิน สิริอายุรวม 79 ปี พร้อมกันนี้จึงขอเปิดประวัติบรมครู “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ศิลปินแห่งชาติ เพื่อสดุดีให้กับศิลปินคนสำคัญ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลง ผู้สร้างศิลปินคนดัง ตลอดจนผู้ประพันธ์แต่งเพลงโด่งดังไว้มากมาย ให้ได้รับฟังและสร้างความสุขให้กับคนไทยมาอย่างยาวนาน
10 ประวัติ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ศิลปินแห่งชาติ บรมครูเพลงแหล่
1. “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” เกิดวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
2. ศิลปินแห่งชาติ เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เป็นชาวไทยเชื้อสายลาว ร่ำเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า
3. ในวัยเด็ก อายุเพียง 2 ขวบ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ 14 ปี
4. จากนั้นได้หัดร้องลิเก กับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง และเมื่ออายุ 16 ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า
5. เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ ชื่อ “จันทโครพ” ของ พร ภิรมย์ ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1 ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชาย เมืองสิงห์, ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร
6. ครั้งหนึ่งชัยชนะบุญนะโชติได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลงไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วยและได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก
7. “ชัยชนะ บุญนะโชติ” จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” หลังจากนั้นได้นำไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย”
8. ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง “ให้พี่บวชเสียก่อน” และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง “แบ่งสมบัติ” และ “21 มิถุนา ขอลาบวช” เป็นต้น
9. ไวพจน์ มีความสามารถด้านการแต่งเพลงเป็นอย่างมาก โดยได้แต่งเพลงดังให้กับนักร้องหลายคน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างราชินีลูกทุ่งคนที่ 2 อย่าง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ขึ้นมาประดับวงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทยด้วย
10. จากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ ความเชี่ยวชาญด้านเพลงพื้นเมืองภาคกลางชนิดหาตัวจับได้ยาก และได้สร้างผลงานเพลงไว้มากมาย ทำให้ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี 2540.