
Traumatized woman got injury at work, has problems with health, plaster on broken nose, bruised skin, poses with crutches, fell down on slippery surface because of carelessness. Danger of riding
สรุปอุบัติเหตุปี 2564 คนไทยบาดเจ็บเกือบ 9 แสนราย ตาย 1.3 หมื่นราย ขณะที่ 1 ม.ค.- 20 ม.ค. 65 มีผู้บาดเจ็บแล้ว 5.2 หมื่นราย ตายเกือบ 900 ราย พบ “จักรยานยนต์” เกิดอุบัติเหตุมากสุด เตือนภาคตะวันออก อีสาน เหนือ มีอุบัติเหตุสูงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวขณะนี้…
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (ThaiRSC) ของประเทศไทยปี 2564 พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 879,940 ราย เสียชีวิต 13,425 ราย และจากการเฝ้าระวังในปี 2565 (1 ม.ค.- 20 ม.ค. 65) พบผู้บาดเจ็บ 52,459 ราย เสียชีวิต 898 ราย
และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสัปดาห์เดียวกัน (ในระหว่างวันที่ 9 – 15 มกราคม) ของปี 2565 และปี 2564 พบว่าในปี 2565 มีจำนวนครั้งในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และมีจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตสูงกว่า
สำหรับพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ จักรยานยนต์ (ร้อยละ 51.56) รองลงมาคือ รถยนต์ (ร้อยละ 48.44) และพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุทางถนนจำนวนหลายเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดจากรถบรรทุก และรถกระบะที่บรรทุกคนงาน และพืชผลทางการเกษตร ในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะช่วงตอนเย็นเป็นช่วงเวลาที่พบอุบัติเหตุมาก ได้แก่ ช่วงเวลา 18.00 – 20.00 น. และช่วงเวลา 16.00 – 18.00 น.
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต มีการบรรทุกพืชผลทางการเกษตร โดยยานพาหนะที่มีสภาพไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ซึ่งประชาชนเดินทางไปซื้อข้าวของเครื่องใช้มากกว่าในช่วงเวลาปกติ โดยเฉพาะช่วงเย็นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงควรระมัดระวังเพราะมีปริมาณรถสัญจรบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางโดยใช้ยานพาหนะในการบรรทุกคนงาน เกษตรกร และผลผลิตทางการเกษตร ดังนี้
1. ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
2. การบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งคนงาน ควรมีปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรบรรทุกน้ำหนักเกิน
3. คำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่และโดยสาร เช่น คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกนิรภัย งดดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่และโดยสาร ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ยานพาหนะ
4. เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็น (16.00 – 20.00 น.) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น
5. ขับรถด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และปฏิบัติตามกฎจราจร
6. ผู้ขับขี่ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง โดยการพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย และโรคประจำตัว เช่น หัวใจ ความดัน เบาหวาน ลมชัก เป็นต้น รวมถึงความเสี่ยงด้านร่างกายที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างขับขี่ยานพาหนะ
ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที 1669 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422