กระทรวงพลังงานย้ำ เร่งดูแลแก้ปัญหาน้ำมันแพง ลดผลกระทบประชาชน หลังราคาตลาดโลกปรับขึ้นทุกประเภท ขอกลุ่มรถบรรทุกเห็นใจ หากอุ้มดีเซล 25 บาทต่อลิตร ต้องใช้ 1.7 หมื่นล้านต่อเดือน!!…
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน (พน.) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ร่วมกันแถลงสถานการณ์พลังงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะด้านราคา ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เพื่อเตรียมแผนรับมือ และกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่างๆ ให้ดีที่สุดว่า สั่งให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กระทรวงฯ ได้ใช้มาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
โดยในปี 2565 สถานการณ์การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณแปลง G1/61 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.นี้ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ติดตาม ยึดหลักการรักษาความมั่นคงในการจัดหา และคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้า ที่จะมีต่อประชาชนให้น้อยที่สุด รวมถึงพิจารณาแผนการนำเข้า LNG
ส่วนสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน กระทรวงฯ มีนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลบี 5 ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการใช้กว่า 60 ล้านลิตร/วัน ใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนถึงลิตรละ 3.79 บาทแล้ว หากภาครัฐลดราคาเหลือ 25 บาท/ลิตร ตามที่กลุ่มรถบรรทุกเรียกร้อง ต้องใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนฯ ถึงลิตรละ 9 บาท หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท
ขณะที่การดูแลราคา LPG หรือก๊าซหุงต้ม ยังอยู่ในสถานะติบลบ 24,000 ล้านบาท หลังตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก. ถึง 31 มี.ค. ส่วนจะขยายเวลาต่อไปหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้งในเดือนนี้ หลังตรึงราคามากว่า 2 ปี
“อยากขอความเห็นใจจากกลุ่มรถบรรทุก เพราะดูแลอย่างเต็มที่แล้ว ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลยังคงตรึงราคาไว้ที่ 30 บาท/ลิตร คิดเป็นเงินที่ต้องใช้ตรึง 17,000 ล้านบาท/เดือน หากจะให้ตรึงที่ 25 บาท คงไม่สามารถดำเนินการได้” ปลัดพลังงานระบุ
หลังกลุ่มรถบรรทุก-ปิกอัพ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้นัดรวมพล คาร์ม็อบ จัดชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บ./ลิตร ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.65) ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ที่หน้ากระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อขับไล่นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน หลังล้มเหลวแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง.