TOPPIC Time ชวนดู ดวงดาว สุกสกาวบนท้องฟ้า คืนนี้ 5 พฤษภาคม พระจันทร์เต็มดวง รวมถึงปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่อง และตลอดเดือนพฤษภาคม ที่จะเกิด และไล่เรียงมาให้ชมไม่ขาดสาย เรียกได้ว่า ท้องฟ้ายามค่ำคืนไม่เงียบเหงา…
เริ่มต้นปรากฎการณ์แรกกับ จันทรุปราคาเงามัว ในคืนวันที่ 5 ถึงเช้ามืด 6 พฤษภาคม 2566 นี้ เวลาประมาณ 22:14 – 02:31 น. ขณะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์จะสว่างลดลงเพียงเล็กน้อย สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ยาก ไม่ปรากฏเว้าแหว่ง และเข้าสู่เงามัวมากที่สุด เวลาประมาณ 00:22 น. (6 พ.ค.) จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเงามัว
จันทรุปราคา ในประเทศไทยครั้งต่อไป จะเกิด จันทรุปราคาบางส่วน วันที่ 29 ตุลาคม 2566
จันทรุปราคา คือ?
จันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยมิได้เฉี่ยวกายเข้าไปในเงามืดแม้แต่น้อย ดวงจันทร์จึงยังคงมองเห็นเต็มดวงอยู่ แต่ความสว่างลดน้อยลง สีออกส้มแดง จันทรุปราคา ชนิดนี้ หาโอกาสดูได้ยาก เพราะโดยทั่วไปดวงจันทร์มักจะผ่านเข้าไปในเงามืดด้วย
ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน
เริ่มคืนวันที่ 7 ถึงเช้า 8 พฤษภาคม 2566 “ดาวแอนทาเรสเคียงดวงจันทร์”
– 8 พฤษภาคม 2566 “ดาวอังคารเคียงดาวพอลลักซ์”
– 14 พฤษภาคม 2566 “ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์”
– 18 พฤษภาคม 2566 “ดาวพุธเคียงดวงจันทร์”
– 23 พฤษภาคม 2566 “ดาวศุกร์เคียงดวงจันทร์”
– 24 พฤษภาคม 2566 “ดาวอังคารและดาวพอลลักซ์เคียงดวงจันทร์”
– 27 พฤษภาคม 2566 “ดาวเรกูรัสเคียงดวงจันทร์”
– 29 พฤษภาคม 2566 “ดาวศุกร์เคียงดาวพอลลักซ์”
– คืน 31 พฤษภาคม ถึงเช้า 1 มิถุนายน 2566 “ดาวสไปกาเคียงดวงจันทร์”
- ดาวเคราะห์เคียงเดือน : ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บนท้องฟ้า (ขึ้นอยู่กับคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์เอง) ดังนั้นการที่ดวงจันทร์กับดาวเคราะห์มาอยู่ในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ
ปิดท้ายปรากฎการณ์ ดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด 29 พฤษภาคม 2566
- ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์วงใน ซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จึงสังเกตเห็นได้ยาก ช่วงที่สามารถสังเกตการณ์ดาวพุธได้ดีที่สุดคือ ช่วงที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด (Greatest Elongation) ซึ่ง 1 รอบการโคจรจะอยู่ ณ ตำแหน่งนี้ 2 ครั้ง คือ
- ตำแหน่งที่ดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด (Greatest Eastern Elongation) จะสังเกตเห็นดาวพุธบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า
- ตำแหน่งที่ดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด (Greatest Western Elongation) จะสังเกตเห็นดาวพุธบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้ามืด
ทุกๆ ความผันเปลี่ยน เป็นสัจจธรรมหนึ่งที่สอนมนุษย์ให้เข้าใจว่า
“ทุกสิ่งย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดหยั่งยืน”
เฉกเช่นการเคลื่อนย้ายของดวงดาว!!