‘ดาวหางนิชิมูระ’ เป็นดาวหางดวงใหม่ ที่ทำให้นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นกับการค้นพบ เมื่อราวเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่า กำลังจะโคจรเฉียดโลก ในวันที่ 12 กันยายนนี้ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในวันที่ 17 กันยายน
TOPPIC Time ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นความรู้และความอัศจรรย์ของดวงดาวในห้วงอวกาศที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งในการศึกษาค้นคว้า และในบางคนอาจจะมีเรื่องความเชื่อเป็นผลพวงพ่วงมาร่วมด้วย
เปิดที่มา ‘ดาวหางนิชิมูระ’
“ดาวหางนิชิมูระ” ค้นพบครั้งแรกโดย “ฮิเดโอะ นิชิมูระ (Hideo Nishimura)” นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.2023 จากกล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า พบมีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ติดมาในภาพ และเมื่อกลับไปตรวจสอบภาพถ่ายในวันก่อนหน้า กลับมีการเปลี่ยนตำแหน่งไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่
ฮิเดโอะ นิชิมูระ ได้ส่งข้อมูลไปยัง Minor Planet Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยตรวจสอบและยืนยันการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ และได้รับการยืนยันในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2023 จึงกำหนดชื่อดาวหางดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า “C/2023 P1 (Nishimura)” จัดเป็นดาวหางคาบยาวที่มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี โดยขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.2023
จับตาทิศทาง ‘ดาวหางนิชิมูระ’ โคจรใกล้โลก
ช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จากข้อมูลล่าสุด ขณะนี้ดาวหางมีค่าความสว่างปรากฏ 5.2 สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไร้มลภาวะทางแสง ในช่วงวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.2023 โดยหลังจากนั้น แม้ดาวหางจะโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และดาวหางก็จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้ยิ่งมีเวลาในการสังเกตการณ์น้อยลงเรื่อย ๆ
- วันที่ 12 กันยายน ค.ศ.2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่ก็เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์
- วันที่ 15 กันยายน ค.ศ.2023 ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และมีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเคลื่อนตำแหน่งออกจากกลุ่มดาวสิงโต (Leo)
- วันที่ 17 กันยายน ค.ศ.2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) และจะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น โดยเว็บไซต์ Comet Observation database (COBS) คาดการณ์ว่า ดาวหางอาจมีค่าความสว่างปรากฏได้มากถึง 3.0 [1] ซึ่งเป็นค่าความสว่างปรากฏที่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ไม่ยากนัก
“วันที่ 17 กันยายนนี้ จะสามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลาสังเกตการณ์เกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป จากนี้ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า”
เปิดความเชื่อดาวหางกับมนุษย์
ในอดีตผู้คนเชื่อว่า สรรพสิ่งบนโลกเกิดมาจากพระเจ้าดลบันดาล ดาวหางทะลุเข้ามาในห้วงท้องฟ้าบนพื้นที่โลก จึงเสมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยที่พระเจ้าต้องการสื่อสารกับมนุษย์ ส่วนใหญ่เชื่อว่าดาวหางเป็นลางบอกเหตุร้าย นานาประการ ตามความเชื่อและคำบอกเล่า รวมถึงเหตุการณ์ที่มีการนำมาผูกโยง
แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาดาวหางมากขึ้น และเข้าใจลักษณะธรรมชาติของดาวหาง ระบุว่า เป็นก้อนน้ำแข็งสกปรก มีหางที่เกือบเป็นสูญญากาศ และไม่มีความสัมพันธ์กับเหตุเภทภัยใดๆ จึงทำให้มนุษย์คลายความหวาดกลัวลงได้มาก ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน!!
ขอบคุณ – NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ