สั่งเฝ้าระวังน้ำท่วม หลังแม่น้ำเจ้าพระยาสูง ในช่วงวันที่ 24-29 ส.ค. จากหลายปัจจัย เตือนหลายพื้นที่เริ่มวางแนวกระสอบทรายกั้น…
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ (23 ส.ค.65) พบฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก (รอบ 24 ชม.)
โดยฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย 91 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และ “น้ำท่วม” ฉับพลัน บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ระยอง จันทบุรี ตราด นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
โดยภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 50,736 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 62 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ ของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด
กอนช. ยังเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียงช่วง 24–29 ส.ค. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับ มีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน – ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ช่วง 24-29 ส.ค. ประมาณ 1.90 -2.20 เมตร อาจส่งผลกระทบพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และ กทม. หลายพื้นที่เริ่มวางกระสอบเสริมแนวกั้น
ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจและฟื้นฟูเยียวยา จากสถานการณ์น้ำท่วม (ดีเปรสชันมู่หลาน) ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ในอัตรา ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
จากข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค.65 พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 14 จังหวัด คาดกว่า 88,305 ไร่ (ข้าว 71,695 ไร่ พืชไร่-พืชผัก 14,758 ไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 1,870 ไร่) จำนวนเกษตรกร 23,182 ราย