หากมีครอบครอง “ปลาเรืองแสง” ต้องส่งคืน เหตุตัดต่อพันธุกรรมเกรงสูญพันธุ์ดั้งเดิม…
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เผยได้รับการรายงานว่า ขณะนี้พบมีผู้ที่ทำการเพาะเลี้ยง “ปลาเรืองแสง” หรือ ปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม ด้วยเทคนิคการนำยีนส์ที่ได้จากแมงกะพรุน หรือดอกไม้ทะเลบางชนิด ไปใส่ไว้ใน DNA ที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา และจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมาเกิดความแปลกตา สวยงาม ชนิดของสีเรืองแสงที่มีการค้าในปัจจุบัน มี 6 สี ได้แก่ สีเขียว สีฟ้า สีแดง สีส้ม สีชมพู และสีม่วง
ปัจจุบันนานาชาติส่วนใหญ่ ไม่ให้การยอมรับเรื่องของดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต เพราะอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม กับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาสวยงาม หากเข้าไปแทรกอยู่ในยีนส์แล้ว ยากที่จะเอาออก ทำให้สูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรง โดยอาจส่งผลต่อความเข้มงวดการนำเข้าปลาสวยงาม หรือกระทั่งห้ามค้าขาย (ที่เป็นปลาดัดแปลงพันธุกรรม) ซึ่งกระบวนการตรวจสอบสารพันธุกรรมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ โดยสามารถใช้ไฟฉาย UV Black light ส่องดู
ทั้งนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าปลาสวยงาม หากมีครอบครองอยู่ ขอให้ส่งให้กรมประมงได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ทั่วประเทศ หรือสำนักงานประมงจังหวัด 77 จังหวัด