สะพานพระราม 8 กับแคมเปญยิงเลเซอร์ เลือกตั้ง 2566 สุดเลื่องระบือ โชว์ ชื่อ หมายเลขพรรคการเมืองบนเสา ทำให้สะเทือนวงการโฆษณาอย่างมาก กระทั่งมีการถามหาว่า โฆษณาในลักษณะนี้ ติดต่อได้ที่ไหน อย่างไร มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพราะหลายเอเจนซี่เคยพยายาม แต่ก็ไม่เคยประสบผล ระดับมือพระกาฬในวงการโฆษณาต่างหมายตาเป็นมัน แต่เอื้อมไม่ถึง
ด้วยจุดเด่นบน สะพานพระราม 8 ลงตัวในทุกมิติของงานขาย เห็นได้ไกลทั้งกรุงเทพ – ฝั่งธน เอกลักษณ์โดดเด่น งานระดับโลก สะพานพระราม 8 ที่อยู่ในในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้จบแค่เพียงเท่านี้ แต่มีเรื่องราวมากมายที่น่าศึกษา เพราะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร TOPPIC Time จะย้อนอดีตโครงการก่อสร้าง สะพานพระราม 8 มาให้ได้เรียนรู้กัน
รู้ลึก สะพานพระราม 8 สะพานดังเลือกตั้ง 2566
ปฐมบท สะพานพระราม 8 ทำเพื่ออะไร?
สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว 3 ระนาบที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพฯ โดยตั้งอยู่ในแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด สะพานแห่งนี้ที่มีจุดกำเนิดมาจากปัญหาการจราจร และเพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงแลเห็นปัญหา และได้วางระบบการสัญจรเชื่อมต่อระหว่างถนนวิสุทธิกษัตริย์ กับถนนอรุณอัมรินทร์ เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ให้สามารถระบายการจราจรออกสู่ย่านธนบุรีได้สะดวกรวดเร็ว รู้หรือไม่ การเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของ สะพานพระราม 8 นั้น ช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธนอีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง
สะพานพระราม 8 เปิดให้วิ่งรถมาแล้ว 21 ปี
ทั้งนี้ เมื่อสร้างเสร็จ ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนใช้งาน ตั้งแต่เวลา 7:00 น. ของวันที่ 7 พ.ค. 2545 จนถึงเวลานี้ ก็ 21 ปีแล้ว นานมาก!!! ก่อนที่รัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบ พิธีเปิดสะพานพระราม 8 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2545
“สะพานขึง” แบบอสมมาตร คือ??
สะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร มีความสูงเท่าสะพานพระปิ่นเกล้า และมีความลาดชันไม่เกิน 3% เป็นสะพานหลักช่วงข้ามแม่น้ำ 300 เมตร สะพานยึดช่วงบนบก 100 เมตร และสะพานช่วงโครงสร้างยึดเสา 75 เมตร โดยสะพานแห่งนี้ มีรูปแบบโดดเด่นสวยงามมาก เพราะถูกออกแบบให้เป็น “สะพานขึง” แบบอสมมาตร ซึ่งหมายความว่า สะพานพระราม 8 จะมีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่นพระนคร โดยจะเห็นได้ว่า ในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่เลย ข้อดีของการไม่มีเสาในแม่น้ำ ก็ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ และช่วยป้องกันน้ำท่วมและระบบนิเวศวิทยาในน้ำได้อีกด้วย
สะพานพระราม 8 ตั้งอยู่ได้อย่างไร?
แล้ว สะพานพระราม 8 ตั้งอยู่และรับน้ำหนักรถที่สัญจรไปมาได้อย่างไร? คำตอบ คือ การรับน้ำหนักของสะพาน ได้ติดตั้งสายเคเบิลระนาบคู่ 28 คู่ ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยว 28 เส้น ขึงยึดรั้งกับโครงสร้างยึดเสาสะพานบนฝั่งธนบุรี โดยเคเบิลแต่ละเส้น จะประกอบด้วยสลิงตั้งแต่ 11-65 เส้น แน่นหนาและเยอะอยู่นะ เมื่อเกิดปัญหากับเคเบิล ก็สามารถขึงหรือหย่อนได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องปิดการจราจรเหมือนกับสะพานพระราม 9
ความปลอดภัย ที่ทดสอบ สะพานพระราม 8 มาแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นสะพานแบบขึงลวด เพราะหากขับๆ อยู่บนสะพาน แล้วลวดขาดจะทำอย่างไร ฮ่าๆๆๆ มาตรฐานความปลอดภัยเขาสูงกว่าที่เราคิดกันเล่นๆ นะ เพราะก่อนเปิดใช้งาน ได้มีการทดสอบแรงดึงในลวดสลิงแล้ว 1 ล้านครั้ง โดยใช้แรงดึงปกติถึง 10 ตัน ก็ไม่มีปัญหา และยังต้องทดสอบด้วยการใช้แรงดึงถึง 27 ตัน ซึ่งอันนี้ลวดสลิงถึงขาด แต่ก็แค่ 1% เท่านั้น นอกจากนี้การทดสอบแรงดึง ก็ยังมีการทดสอบแรงลม แรงสั่นสะเทือน ทิศทางลม รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความผิดปกติของสะพานพระราม 8 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นปลอดภัยหายห่วงแน่นอน
สะพานพระราม 8 สะพานอันดับ 5 ของโลก
รู้หรือไม่? สะพานพระราม 8 เป็น “สะพานขึง” แบบอสมมาตร ที่ยาวติดอันดับ 5 ของโลก รองจากเยอรมนี ซึ่งติดอันดับถึง 3 สะพาน และก็ที่เนปาล โดยจะนับจากความยาวช่วงของสะพาน ส่วน สะพานพระราม 9 นั้นเป็นสะพานขึงตัวแรก แต่เป็นแบบ “สมมาตร” เพราะมี 2 เสา และถือว่าอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ที่ความยาวช่วงของสะพานถึง 450 เมตร
สะพานพระราม 8 แลนมาร์คสุดโดดเด่นของกรุงเทพ
ความสวยงามและโดดเด่นของ สะพานพระราม 8 จะผสมผสานไปด้วยศิลปะแบบไทย จากแนวคิดในการสร้างเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 8 จึงได้อัญเชิญ “พระราชลัญจกร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ มาเป็นต้นแบบในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และให้สายเคเบิลของสะพาน มีสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ เวลาที่สะท้อนแสง สายเคเบิลจะส่องประกายสวยงาม โดยเฉพาะยามค่ำคืน หากใครไปนั่งร้านอาหารแถวนั้นบ่อยๆ จะรู้ว่ายามค่ำคืน สะพานพระราม 8 สวยจริงๆ ถ่ายรูปยังไงก็ไม่สวยเท่าตาเห็นค่ะ
ออกแบบให้พระอาทิตย์ขึ้น ตรงกับกลางสะพาน และพระบรมราชานุสรณ์
สุดว้าวมากอันนี้ สะพานพระราม 8 ได้ออกแบบกำหนดทิศทางของสะพานและพระบรมราชานุสรณ์ไว้ด้วย โดยได้ออกแบบให้สัมพันธ์กับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ คือจำไว้ให้ดีนะคะ วันที่ 21 และ 22 ธันวาคม ของทุกปี เวลาเช้ามืด…ดวงอาทิตย์จะโผล่เด่นพ้นเส้นขอบฟ้า และขึ้นตรงเส้นกลางถนนบนสะพานด้านทิศตะวันออก และขึ้นตรงไปด้านหน้าของพระบรมราชานุสรณ์ เสมือนเป็นมาตรที่บ่งบอกทิศทางการโคจรเป็นวงรี วกกลับของดวงอาทิตย์ เมื่อเทียบในระนาบ 2 มิติ ตามวิถีคิดในอดีตกาล เจ๋งมากนะ…ตั้งเตือนในปฏิทินเลย ปีนี้วันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ต้องไปชมเสียหน่อย
จุดชมวิวบน สะพานพระราม 8
สิ่งพิเศษของสะพานพระราม 8 ที่สะพานอื่นในกรุงเทพยังไม่มี คือ ที่ปลายยอดเสาสูงของตัวสะพาน จะมีจุดชมทิวทัศน์ ซึ่งมีโครงสร้างโลหะกรุกระจก ลักษณะคล้ายดอกบัว โดยสูงจากพื้นดินถึง 165 เมตร หรือสูงเท่าตึก 60 ชั้นไปเลยจ้า บนจะสามารถจุคนได้ครั้งละเกือบ 50 คน เรียกได้ว่าเป็นแลนมาร์ค เป็นจุดชมวิวกรุงเทพมหานครได้กว้างไกล มองเห็นสิ่งก่อสร้างสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ เช่น ป้อมพระสุเมรุ วังบางขุนพรหม ยอดอาคารโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสะพานพระปิ่นเกล้า
นี่คือความยิ่งใหญ่อลังการของ สะพานพระราม 8 ทั้งจุดเด่น จุดขาย ด้านลักษณะภูมิศาสตร์ เอกลักษณ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นักโฆษณาจะเพียรพยายามให้เป็นจุดขาย เพราะมีดีแบบนี้นี่เอง!!