เกิดอาการตื่นตระหนก ผวากระทั่งอพยพกันจ้าละหวั่น ตั้งแต่เช้า (19 มิ.ย.) กับสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 (15.266°N , 96.248°E ) เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น.
แผ่นดินไหวจากแนวเลื่อนในเมียนมา ฉายา ‘ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า’
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี เผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี
รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนมีพลังมีความยาวประมาณ 1,200 กม. วางตัวอยู่แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านกลางประเทศพม่า ถูกขนานนามว่า “ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า” เคยเกิดแผ่นดินไหว ตั้งแต่ขนาด 2.9 – 7.3 ประมาณ 280 ครั้ง โดยในปี 2559 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ศูนย์กลางบริเวณเมืองมาเกว เขตสะกาย ประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และเจดีย์หลายแห่งในเมืองพุกาม ได้รับความเสียหาย
กทม.ห่างเกือบ 300 กม.รู้สึกสั่นไหว หลายพื้นที่
ผลกระทบ ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ดังนี้
1) กรุงเทพมหานคร 22 เขต (พื้นที่เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง คันนายาว)
2) จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง
3) จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต
ดินเหนียวอ่อนขยายคลื่นแผ่นดินไหวมาก 3 เท่า
กรุงเทพมหานคร ที่รับรู้ความรู้สึกสั่นไหวเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากรองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกล จะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
สถิติแผ่นไหว ย้อนหลัง 5 ปี รุนแรง 3 ครั้ง
ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง
ปฏิบัติอย่างไร ขณะเกิดแผ่นดินไหว
ภายในอาคาร
- ตั้งสติและรีบปิดสวิตช์ไฟ แก๊ส และน้ำประปาทันที
- เปิดประตูทางเข้าออก พยายามหาสิ่งของ (เบาะที่รองนั่ง) เพื่อใช้ป้องกันศีรษะ พยายาม-หลบใต้โต๊ะหรือใต้อุปกรณ์เครื่องใช้ที่แข็งแรง หรือยืนใกล้กำแพงที่อยู่ตรงกลางของตึกอาคาร
- ห้ามอยู่ใกล้หน้าต่างเด็ดขาด เนื่องจากกระจกหน้าต่างอาจจะแตก
- ห้ามวิ่งออกนอกอาคารโดยตื่นตกใจ
ภายนอกอาคาร
- ควรยืนอยู่ในที่โล่งหรือฟุตบาท ห้ามวิ่งเข้าไปในอาคารโดยตื่นตกใจ
- ระวังป้ายหรือกระถางที่อาจตกลงมาจากที่สูง
- ควรออกห่างจากอาคารที่กำลังก่อสร้าง เสาไฟฟ้า กำแพง หรือตู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้ติดตั้งอย่างแน่นหนา
- หากอยู่บนสะพานลอยหรือทางเดินใต้ดิน ควรรีบเดินออกมาอย่างมีสติ
- หากอยู่ในระหว่างขับขี่รถ ห้ามหยุดรถกะทันหัน ควรลดความเร็วและจอดข้างทาง และรีบหลบขึ้นฟุตบาทที่ใกล้ที่สุด
- หากอยู่ในระหว่างการขับขี่รถบนทางด่วน ควรรีบขับออกจากทางด่วนอย่างระมัดระวังโดยเร็ว
- หากอยู่ชานเมือง ควรไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง และเดินออกห่างริมหน้าผา ริมทะเล ริมแม่น้ำ
- ระวังการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ (After shock)
ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติที่สะสมมาเป็นเวลาเนิ่นนาน หลายร้อย หลายพันปี จะเป็นคำตอบที่จะสะท้อนกับมาถึงมวลมนุษยชาติ หนังที่เกิดจากจินตนาการ กำลังจะกลายเป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในโลกอนาคตอันใกล้ พึงระวัง!!