เปิดสังคมยุคแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ที่มีแต่ความรักที่จะสร้างโลกใบนี้ เป็นรูปธรรมอย่างเป็นลำดับ TOPPIC Time ขอนำผลจัดอันดับล่าสุดของ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) มาเปิดเผยเกี่ยวกับรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลก ประจำปี 2566
‘ความเสมอภาคทางเพศ’ ไทยเลื่อนอันดับ
Global Gender Gap Index 2023 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566 จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 74 จากทั้งหมด 146 ประเทศ อันดับขยับขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 79 ในปี 2565 ด้วยคะแนน 0.711 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.002 คะแนน WEF จัดทำรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลกครั้งแรก ในปี 2549 เพื่อประเมินความคืบหน้าเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศของประเทศต่าง ๆ ใน 4 มิติ ได้แก่
- ความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity)
- ความสำเร็จทางการศึกษา (Educational Attainment)
- สุขภาพและการอยู่รอด (Health and Survival)
- การส่งเสริมศักยภาพทางการเมือง (Political Empowerment)
ขณะที่ อันดับ 1 ไอซ์แลนด์ อันดับ 2 นอร์เวย์ อันดับ 3 ฟินแลนด์ อันดับ 4 นิวซีแลนด์ และอันดับ 5 สวีเดน
หากมองในระดับภูมิภาค ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีความเท่าเทียมที่ร้อยละ 68.8 ซึ่งนับเป็นคะแนนสูงสุดอันดับ 5 จากทั้งหมด 8 ภูมิภาค ผู้หญิงในภูมิภาคนี้ต้องใช้เวลา 189 ปี จึงจะสามารถอุดช่องโหว่ความไม่เสมอภาคทางเพศได้ผลสำเร็จ
สำหรับประเทศไทยพิจารณารายมิติในปี 2566
- อันดับที่ 24 มิติความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยคะแนน 0.772
- อันดับที่ 61 มิติความสำเร็จทางการศึกษา ด้วยคะแนน 0.995
- อันดับที่ 42 มิติสุขภาพและการอยู่รอด ด้วยคะแนน 0.977
- อันดับที่ 120 มิติการส่งเสริมศักยภาพทางการเมือง ด้วยคะแนน 0.101
นายกฯ คนที่ 30 เข็น กม.สมรสเท่าเทียม ใน 100 วัน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ให้คำสัญญาว่า จัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านได้ทันทีใน 100 วัน
“ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และต้องได้รับบริการสาธารณะจากรัฐโดยเป็นธรรมเสมอภาคกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะความแตกต่างในด้านต่างๆ แม้การเดินทางของความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ จะมาไกลมาก แต่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่าท้อ อย่าหมดกำลังใจ อย่าคิดว่าสังคมนี้จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ในเมื่อทุกคนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง”
ทั้งนี้ ‘Bangkok Pride Parade 2023’ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 ไฮไลต์ที่น่าสนใจ คือขบวนพาเหรดยังรณรงค์และผลักดันความหลากหลายทางเพศให้เท่าเทียม ภายใต้แนวคิด ‘Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่คุณอยากก้าวข้าม’ โดยมีเหล่าคนวงการบันเทิง นักการเมือง และชาวต่างชาติต่างมาร่วมเดินอย่างล้นหลามมากกว่า 5,000 คน เพื่อผลักดันความเท่าเทียมที่หลากหลายในสังคม และเป็นการประกาศว่าไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ World Pride ในปี 2028 แล้ว!!