เพจปลอม สายท่องเที่ยว สายอาหาร กำลังระบาดหนัก โดยเฉพาะ โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ร้านอาหาร ขณะล่าสุดกลลวงแยบยล เกินจะสังเกตได้ยาก ทำหลายตกเป็นเหยื่อ ยิ่งกับสายกิน สายเที่ยว ที่รู้ไม่เท่าทัน มารู้ตัวอีกทีตอนที่โอนเงินหรือชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่ได้ที่พัก ไม่ได้วอชเชอร์อาหารเสียแล้ว
วันนี้ TOPPIC Time มีข้อมูลดีๆ มาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้สังเกต เพจปลอม เกี่ยวกับ โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ร้านอาหาร เพื่อให้เท่ากันกลลวง และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้คำเตือนเดียวในเบื้องต้น คือ “ไม่ชัวร์ อย่าจอง อย่าโอน”
รู้ลึก ‘เพจปลอม’ ตุ๋นเหยื่อ โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ร้านอาหาร
1. เพจปลอม สายท่องเที่ยว สายอาหาร เน้นจัดโปรโมชั่น ลดราคา
จากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายราย ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงิน ค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรองบุฟเฟต์ ผ่าน เพจปลอม ที่เหมือนเพจเฟซบุ๊กของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่างๆ จะมีการหลอกลวงจัดโปรโมชันลดราคาพิเศษ
2. กลลวง เพจปลอม ทำได้หลายวิธี
มิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ คือ สร้าง เพจปลอม เป็นเพจโรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจเดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว หรือการนำเพจที่ยอดติดตามเยอะๆ มาตั้งชื่อ หรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจ ให้เหมือนกับเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมาย ที่ค้นหาร้านอาหาร ให้พบ เพจปลอม เป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดี จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด
3. เพจปลอม ระบาดหนัก เดือนเดียวเกือบ 8 พันเรื่อง สูญกว่า 140 ล้าน
นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 66 – 31 ก.ค. 66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ด้วยกลวิธีต่างๆ รวมถึง เพจปลอม สายท่องเที่ยว สายอาหาร ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท
HOW TO เช็ก เพจปลอม ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ
1. โรงแรมหรือร้านอาหาร ส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น
2. ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ
3. หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดี ว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่
4. เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น เพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงไปถึงไลน์ทางการ ต้องเครื่องหมายโล่สีฟ้า หรือสีเขียวเช่นเดียวกัน
5. เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
6. เพจปลอม มักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
7. ระมัดระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชั่นต่างๆ
8. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
9. ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ประเด็น เพจปลอม แม้ตำรวจจะออกโรงเตือนแล้ว เตือนเล่า ก็ยังมีผู้ที่ตกเป็นเยื่อให้เห็น เพราะบรรดามิจฉาชีพ ก็พยายามพัฒนาและปิดช่องโหว่ให้หลงกล หรือตกเป็นเหยื่อจนได้ ทั้งนี้ TOPPIC Time Travel มีคาถาป้องกันง่ายๆ คือ ไม่แน่ใจ-ไม่ทำ-มีสติ-หลีกเลี่ยงทำธุรกรรมทางออนไลน์ หากไม่มั่นใจทุกกรณี แค่นี้ก็ปิดประตูปฏิเสธทุกข้อเสนอ เพื่อไม่หลงตกเป็นเหยื่อท่องเที่ยว.