จับตาสถานการณ์น้ำ 3-7 ตุลาคมนี้ น้ำหลาก – ล้นตลิ่งพื้นที่ตอนกลาง ตั้งแต่อ่างทอง-อยุธยา หลังน้ำเหนือทยอยไหลลง สุโขทัยยังอ่วม นายกฯ สั่งทุกฝ่ายบูรณาการเร่งแก้ไข
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศให้ติดตามสถานการณ์น้ำ หลังจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566
จับตาภัยพิบัติธรรมชาติ ดินถล่ม-น้ำหลาก-น้ำท่วม
- เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง
- เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ : แม่น้ำวัง ได้แก่ จังหวัดตาก แม่น้ำยม ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
10 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ระวังน้ำล้นตลิ่งท่วม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนและประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
นายกฯ สั่ง 5 โจทย์บูรณาการทุกหน่วยงานแก้สถานการณ์น้ำ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด โฟกัส 5 ประเด็น
- การจัดการน้ำ ให้กรมชลประทานบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำยม-น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
- การจัดการอาคารกั้นน้ำ ให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคง และพร้อมใช้งานตลอดช่วงฤดูน้ำหลาก
- การช่วยเหลือประชาชน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เช่น เร่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัย กำจัดขยะที่มากับน้ำ และตามที่ประชาชนร้องขอ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการระดมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพ หน่วยงานท้องถิ่น
- พยากรณ์อากาศ ให้กรมอุตุวิทยาติดตามสภาพอากาศ และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งเตือนสภาพอากาศกับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
- การแจ้งเตือน ให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
“ขณะนี้จังหวัดสุโขทัย น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะต้องรองรับมวลน้ำที่ไหลลงมาจากจังหวัดแพร่ ซึ่งไหลเข้าท่วมทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและตัวเมืองบางส่วนแล้ว เราต้องเร่งหารือ วางแผนรับมือกับมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกระลอก ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปกว่าเดิม รัฐบาลจะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทำทุกอย่าง เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”
ขอบคุณภาพ : กรมชลประทาน