กระทรวงมหาดไทยเร่งวางกรอบคุมเข้ม อาวุธปืน การครอบครอง จดทะเบียน ป้องกันการเข้าถึงได้ง่าย แก้ปัญหาทั้งระยะสั้น-ยาว ด้านผู้ประกอบการชี้แก้ไม่ตรงจุด
จากกรณีเหตุยิงที่สยามพารากอน ของเยาวชน 14 ปี ที่สร้างความสูญเสียในหลายมิติของประเทศ ทำให้ทุกหน่วยงานเร่งถอดบทเรียน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน กู้ภาพลักษณ์โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาคือ การมีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครอง ทั้งซื้อหาได้ง่าย และไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดเหตุสลดใจในครั้งนี้ขึ้น
กระทรวงมหาดไทย จึงเร่งพิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป พร้อมออกมาตรการคุมเข้มอาวุธปืน โดยจะแบ่งออกมาเป็นมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว โดยมีสาระสำคัญคือ ‘จะงดการออกใบอนุญาต ทั้งนำเข้า การค้า และงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว’
เข็นมาตรการระยะสั้น ดำเนินการได้ทันที 8 เรื่อง
– ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด/อธิบดีกรมการปกครองใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเพิ่มอีก
– ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนของตนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาที่ตนเองอยู่
– ให้กรมศุลกากร ตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กันและบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด
– ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย กำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศ ให้มีการกวดขัน ตรวจสอบทั่วประเทศ
*ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ
*อาวุธปืนที่ใช้ ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ และห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด
*กรณีสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการกวดขัน ตรวจสอบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด
– ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
– ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
– ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปราบปราม และปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน ให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน
แก้ไขกฎหมาย ‘อาวุธปืน-การขึ้นทะเบียน’
สำหรับมาตรการระยะยาว จะมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. บัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
– ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ
– กำหนดความหมาย บทนิยาม ของคำว่า “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปีนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย
– กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถตัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน
– ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศ ทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ จะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย
– ให้ใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.4) มีอายุของใบอนุญาตแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5 หรือ 10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต เช่นเดียวกับกรณีใบขับขี่รถยนต์
ผู้ประกอบการค้าปืน ติงแก้ไม่ถูกจุด
นายฐิติธร บุพพารัมณีย์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย บอกว่า การควบคุมเรื่องอาวุธปืน อยากให้มองมิติและพุ่งเป้าไปที่อาวุธปืนเถื่อนมากกว่าที่สร้างปัญหา ปืนมีทะเบียนนายทะเบียนควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ผู้ครอบครองปืนก็ปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นการกระทบสิทธิสุจริตชนในกลุ่มที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่างผู้ที่ต้องการดูแลทรัพย์สินและชีวิตตนเอง โดยกลุ่มครอบครองปืนถูกกฎหมายมี 3 กลุ่มหลัก 1.มีปืนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สิน 2.เพื่อการกีฬา 3. เพื่อสะสม การก่อเหตุอาชญากรรมในแต่ละปีพบว่า ใช้ปืนเถื่อน 2-3 หมื่นกระบอก และเป็นปืนมีทะเบียน 4-5 พันกระบอก
“การห้ามนำเข้าปืนที่ถูกกฎหมาย จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตเร่งผลิตปืนเถื่อน อย่างปืนไทยประดิษฐ์ บีบีกัน แบลงก์กัน ทะลักเข้าสู่ตลาดมืดหาง่ายขึ้นหรือไม่ หรือการให้นำปืนมาขึ้นทะเบียน /ต่อใบอนุญาตทุก 5 หรือ 10 ปี คนร้ายเปลี่ยนลำกล้องใหม่จะตรวจสอบได้อย่างไร ส่วนการห้ามอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสนามยิงปืนจะเป็นการจำกัดสิทธิเยาวชนที่ต้องการฝึกซ้อมเพื่อเป็นนักกีฬาหรือไม่ อยากเรียกร้องให้รัฐเร่งปราบปรามให้ตรงจุดเพื่อทำลายวงจรปืนเถื่อนผิดกฎหมาย”
ขอบคุณ : FC Anutin