‘ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก’ มากที่สุดในรอบปี อยู่ห่าง 595 ล้านกิโลเมตร เรียงเป็นระนาบเดียวกันกับ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัส จนสร้างปรากฏการณ์ชวนหลอนจากกลุ่มเมฆ พายุ และชั้นบรรยากาศ รอชมได้ค่ำคืนนี้
‘ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก’ อีกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง ในค่ำคืนนี้ และมีให้ชม ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ตามสภาพและสสารที่มีปัจจัยเอื้อทำให้เกิดขึ้นได้ เป็นผลพวงที่ดี ที่ต้องนำมาศึกษาต่อ ในแง่มุมทางดาราศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงในระบบสุริยะ TOPPIC Time ขอนำมาทอดถ่ายสู่กันฟัง ทั้งเกร็ดความรู้ และแง่มุมทางวิชาการ
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุด ในรอบปี
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี (ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก) ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร
ช่วงเวลาที่ชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลก
ปรากฏการณ์ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก สามารถมองเห็นได้ทันที เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า นานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต รวมถึงแถบเมฆที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี และหากมีกำลังขยายขึ้นไปอีก จะสามารถเห็นจุดแดงใหญ่ พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน
ภาพหลอน ‘ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก’ : จินตนาการ
ภาพพื้นที่ “Jet N7” เป็นพื้นที่ชั้นบรรยากาศที่ปั่นป่วนบริเวณขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดี (ละติจูดประมาณ 69 องศาเหนือ) มองดูแล้วมีลักษณะคล้ายใบหน้าที่ชวนขนหัวลุก แท้จริงแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลพวงจาก “แพริโดเลีย” (pareidolia) ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่สมองเรา พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัว แล้วจินตนาการออกมาลักษณะคล้ายใบหน้าหรือรูปแบบต่าง ๆ ทั้งๆ ที่ภาพนี้เป็นเพียงเส้นแบ่งระหว่างซีกกลางวันและกลางคืนบนดาวพฤหัสบดี อีกทั้งมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ ที่เผยให้เห็นกลุ่มเมฆและพายุที่ปั่นป่วน ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ภาพ-ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ