กระทรวงสาธารณสุขเร่งเดินเครื่องแก้กฎหมายอุ้มบุญ เปิดทาง LGBTQ+ มีลูกเพิ่มจำนวนประชากรประเทศ แก้วิกฤต หลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ เตรียมชง ครม.ยึดหลักคุ้มครองเด็กที่เกิดมา พร้อมเคลียร์ข้อข้องใจรับอุ้มบุญ ค้ามนุษย์
หลังกระทรวงสาธารณสุขตีฆ้องประโคม สุดๆ กับจำนวนประชากรไทยจะเข้าขั้นวิกฤตไม่เกินอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรประเทศจะลดลงเหลือประมาณ 30 ล้านคน จากที่ปัจจุบันมีประมาณ 66 ล้านคน ทำให้ความพยายามผุดมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มอัตราประชากรในทุกรูปแบบ วันนี้ TOPPIC Time มีข่าวดีมาบอก โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ที่อยากจะมีทายาทของตนเองในอนาคตอันใกล้ กฎหมายอุ้มบุญ จะเปิดกว้างให้สามารถมีได้ หลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯ
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ขณะนี้ สบส.กำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ กฎหมายอุ้มบุญ กำหนดให้สามารถดำเนินการได้ในคู่สมรส ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ดังนั้น หากเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำอุ้มบุญได้ แต่ต้องบอกรายละเอียด โดยจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อุ้มบุญ ตามร่างเดิม หลังเคยเสนอ ครม.ชุดที่แล้ว
เปิดขั้นตอน เร่งคลอดกฎหมายอุ้มบุญ
– ยึดร่างแก้ไข พ.ร.บ.(กฎหมายอุ้มบุญ) เดิม เนื่องจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แล้ว
– สบส.อยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียด ก่อนนำเสนอ ครม.อีกครั้ง
– กรณีแก้ไข กฎหมายอุ้มบุญ ให้มีความทันสมัยขึ้น ไม่มีความยุ่งยากเหมือนการออกกฎหมายใหม่
– หากผ่านการพิจารณา ครม. จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากไม่แก้ไขใดๆ จะส่งกลับเข้า ครม.เห็นชอบ กฎหมายอุ้มบุญ สามารถประกาศบังคับใช้ได้
– สบส.จะดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ที่เป็นกฎหมายลูก ของ กฎหมายอุ้มบุญ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับส่วนที่มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.
“ในการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ จะอนุญาตให้คู่สมรสทำได้ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หาก พ.ร.บ.เป็นอย่างไร ก็จะเป็นไปตามนั้น เพราะใน กฎหมายอุ้มบุญ ไม่ได้ระบุว่า สามี/ภรรยา คือ ชายกับหญิง แต่ระบุว่าคู่สมรสตามกฎหมาย ซึ่งจะยึดที่การมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องกฎหมายเป็นหลัก เมื่อประสงค์จะมีการอุ้มบุญ จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เหมือนเดิม ปัจจุบันในประเทศไทย คณะกรรมการฯ อนุญาตให้ทำอุ้มบุญถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 745 คน นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558”
ไขข้อข้องใจ กฎหมายอุ้มบุญ กลุ่ม LGBTQ+
– การแก้ไข กฎหมายอุ้มบุญ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการมีบุตรที่ดำเนินการร่วมกัน
– กฎหมายอุ้มบุญ ยังดูเรื่องของการตั้งครรภ์ หรือท้องไม่ได้ด้วยตนเอง หรือ ท้องได้ แต่ท้องยากด้วย ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการผสมบางอย่างที่ฉีดเข้าไป เป็นต้น
– เมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ กลุ่ม LGBTQ+ สามารถทำอุ้มบุญ หรือใช้เทคโนโลช่วยการเจริญพันธุ์ตามกฎหมายอุ้มบุญได้ โดยออกเป็นประกาศเพื่อให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถมีบุตรได้ เช่น ผู้หญิงกับผู้หญิงแต่งงานกันแล้วอยากมีลูก สามารถตั้งครรภ์ได้เอง แต่อาจจะต้องใช้ผสมอสุจิคนอื่น ส่วนหากเป็นผู้ชายเป็นคู่สมรสกัน ต้องหาผู้หญิงมาอุ้มบุญ เข้าสู่การพิจารณาตามหลักเกณฑ์การอุ้มบุญ เพราะไม่มีมดลูก ตั้งครรภ์เองไม่ได้ “ย้ำว่าต้องเป็นคู่สรมสที่ถูกต้อง มีทะเบียนสมรส ไม่ใช่คู่ชีวิต”
– กฎหมายต้องการที่จะคุ้มครองเด็กที่เกิดมาให้ได้มากที่สุด
– แนวทางป้องกันกรณีจดทะเบียนสมรสปลอม เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์กฎหมายอุ้มบุญ แต่เบื้องหลังเป็นการค้ามนุษย์ มีหลักเกณฑ์การพิจารณา และเป็นเรื่องของความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามดำเนินการตามกฎหมาย มีกรมสอบสวนคดีพิเศษจัดการ กรณีอุ้มบุญที่ผิดกฎหมาย
– ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ กรณีการให้ชาวต่างชาติมาทำอุ้มบุญที่ประเทศไทย ตามกฎหมาย คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝายใดจะต้องเป็นคนไทย