‘วันมาฆบูชา’ พระจันทร์เต็มดวง แต่ปีนี้จะได้เห็นดวงจันทร์ขนาดเล็กกว่าปกติ ดูได้ตั้งแต่เย็นวันที่ 24 ก.พ.จนถึงรุ่งเช้า (25 ก.พ.) ร่วมเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชา ได้อานิสงส์แรง…
พระจันทร์เต็มดวงวันมาฆบูชา ปี 2567
เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ปรากฏการณ์ธรรมชาติ 24 ก.พ. วันดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ตรงกับ วันมาฆบูชา
– วันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรอยู่ในระยะไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon)
– เวลาประมาณ 19:32 น.
– มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,909 กิโลเมตร
– ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเพียงเล็กน้อย
– เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ ช่วงเย็นของวันที่ 24 ก.พ. 2567 ตั้งแต่ 18.22 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้าของ 25 ก.พ.
วันมาฆบูชา อัศจรรย์พระจันทร์เต็มดวง
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ คือวันที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก ดังนั้น ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง จะไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน ดวงจันทร์จึงจะกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง
– ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน
– ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก
– ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้
– นักดาราศาสตร์จึงใช้ “ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง” มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลก และไกลโลกที่สุด
– ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร
– ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร
– การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติในคืนไกลโลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติ ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
วันออกพรรษา ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ในปีนี้ จะเกิดขึ้นในคืน วันออกพรรษา 17 ต.ค. 2567 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,358 กิโลเมตร เวลา 18:28 น. ดวงจันทร์จะปรากฏสว่างเด่นเต็มดวง และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
เกร็ดวันมาฆบูชา ทางพระพุทธศาสนา
สำหรับ วันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 ก.พ. ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก พร้อมมีเหตุการณ์สำคัญ 4 อย่าง จึงเรียกว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต”
– พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
– ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
– พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่มาประชุมทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 (ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า) หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
วันมาฆบูชา ร่วมเวียนเทียนได้อานิสงส์แรง
– รอบที่ 1 รำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
“อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”
– รอบที่ 2 รำลึกคุณพระธรรม
“สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ”
– รอบที่ 3 รำลึกคุณพระสงฆ์
“สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ”
อานิสงส์ของการเวียนเทียน วันมาฆบูชา เชื่อกันว่า ทำให้จิตใจตื่นเบิกบาน เกิดความปิติยินดี ทำให้จิตใจสงบบริสุทธิ์ เป็นสมาธิ และเกิดสติ ปัญญา
สำหรับการเวียนเทียน จัดขึ้นเฉพาะ 4 วันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฐมีบูชา
ข้อมูล-ภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ