คนไทยนับถอยหลัง อุตุฯ คาด 3 – 6 พ.ค.จะเริ่มมีฝนเท เริ่มภาคอีสาน – ตะวันออก แล้วคาดว่าจะเข้าฤดูฝนประมาณ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค.ช้าไป 1 – 2 สัปดาห์ แต่น้ำน้อยกว่าปีก่อน มีฝนทิ้งช่วง แถมพายุ 1-2 ลูก ก่อนปิดท้ายปลาย ต.ค. อากาศเย็น
เฟกนิวส์ป่าว? เอาจิงดิ! หลังมีประกาศของกรมอุตุฯ บอกว่า…ฝนกำลังจะมา!! โดยมีการคาดการณ์ ในช่วง 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 27 เม.ย. – 6 พ.ค.นี้ ระบุว่า อากาศยังร้อนและร้อนจัด ต่อเนื่องโอกาสเกิดฝนยังมีน้อย ช่วงนี้ต้องทนร้อนต่อไปถึงต้นเดือน พ.ค.67 ต้องระวังรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด
หลังจากนั้น ลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง สัญญาณฝนเริ่มมา ในช่วงวันที่ 3-6 พ.ค.นี้ ฝนจะเริ่มตกทางภาคอีสาน ภาคตะวันออก พร้อมมีข้อระบุว่า…
“ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้สถานการณ์ปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ซึ่งทำให้สภาวะทางอุตุฯ เปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ”
ไทม์ไลน์ ฝนมาจริง…
กรมอุตุนิยมวิทยา (27 เม.ย.67) ออกประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศ
- ช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2567
- คาดว่า ฝนจะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค. 2567
- จะช้ากว่าปกติ 1 – 2 สัปดาห์
- จะสิ้นสุดประมาณปลายเดือน ต.ค. 2567
- ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศ ในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ และใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝนปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 1 ส่วนปริมาณฝนรวมทั้งปีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 6)
- ในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือน ก.ค.) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ
- ในช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือน ส.ค. – ปลาย ต.ค.) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5
ภาวะฝนทิ้งช่วง มิ.ย. – ก.ค.
– ช่วงประมาณกลางเดือน มิ.ย. ถึงกลาง ก.ค.ปริมาณและการกระจายของฝน มีน้อย และส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด
ฝนตกชุก 3 เดือนเกิดพายุหมุน 1 – 2 ลูก
– ช่วงเดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูง ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่
– ช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึง กลาง มิ.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ โดย บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ประกอบกับบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทย ตอนบนเป็นระยะๆ มักจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวบริเวณทะเลอันดามัน แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น หรือพายุไซโคลน และเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย
– คาดการณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะมีพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.
ฝนหมด ฤดูหนาวมาเยือน
– เดือน ต.ค. บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงและเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่