เปิดแนววางทุ่นชะลอความเร็วเรือ บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ใช้เป็นเส้นทางอพยพพะยูน หวังอนุรักษ์ปกป้องพะยูนและแหล่งอาหาร เผยจำนวนพะยูนลดลงจนน่าเป็นห่วง อันตรายจากน้ำมือมนุษย์!!
เร่งประชาสัมพันธ์ วางทุ่นแนวเส้นทางอพยพพะยูน
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ออกกำหนดและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน ในพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ใช้มาตรการดังนี้
1. ดำเนินการวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ บริเวณแหล่งหญ้าทะเลปากคลองม่วง(อ่าวทึง) หมู่ที่ 4 ตำบลอ่าวนาง และบริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวน้ำเมา หมู่ที่ 5 ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เพื่อป้องกันอันตรายแก่พะยูน
2. การวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ จำนวน 25 ทุ่น ความยาวตลอดแนวทุ่น 5.8 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หญ้าทะเล 1,168 ไร่
3. ขอความร่วมมือจากเรือนำเที่ยวของผู้ประกอบการ เรือประมง และประชาชนที่ใช้ยานพาหนะในการสัญจรทางน้ำ เดินเรือในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ก่ออันตรายแก่พะยูน
4. ให้เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก และงดการเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล
5. หากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล และพื้นที่เสี่ยงในการอพยพเคลื่อนย้ายพะยูน ให้ใช้ความเร็วเรือไม่เกิน 3 นอต และไม่เกิน 20 นอต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายของพะยูน
สำหรับการการวางแนวทุ่นชะลอความเร็ว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ปกป้องพะยูนและแหล่งอาหารของพะยูน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและที่อยู่อาศัยของพะยูนในธรรมชาติต่อไป
ปี 2567 พบพะยูนตายแล้วกว่า 20 ตัวหวั่นสูญพันธุ์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาพะยูนตายโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมเผยว่าในปี 2567 สูญเสียไปแล้วกว่า 20 ตัว เพื่อเล็งหาแนวทางในการกำหนดมาตรการในการดูแลคุ้มครอง ผลการสำรวจพะยูนทะเล จ.ตรัง เบื้องต้นโดยกรมทะเล ปี 2567 พบพะยูนน้อยลงจากปีที่แล้วมาก และไม่พบแม่ลูกเลย ในขณะที่ผลสำรวจปี 2566 พบพะยูนมากกว่า 180 ตัว เป็นแม่ลูก 12 คู่ และไม่พบพะยูนอยู่รวมกันเป็นฝูงเลย ต่างกับปีก่อนหน้าซึ่งคาดว่าเพราะหญ้าทะเลที่เหลือน้อย จึงต้องกระจายกันออกไปหาแหล่งอาหารเป็นตัวเดี่ยวๆ
พะยูน-หมูน้ำ อ้วนกลมน่ารัก
พะยูน (Dugong) หรือ หมูน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugon เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในอันดับ Sirenia และอยู่ในวงศ์ Dugong อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งที่น้ำตื้น ไม่ลึกมาก พะยูนมีรูจมูกอยู่ด้านบนเพื่อให้ขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำได้โดยไม่ต้องโผล่ส่วนอื่นขึ้นมา จะหายใจทุก 1 ถึง 2 นาที ลักษณะทางกายภาพ คือมีรูปทรงกระสวยคล้ายโลมา แต่อ้วนกลมกว่า ผิวหนังเรียบลื่น ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สี มีขนสั้น ๆ ตลอดลำตัว มีหางแฉก เป็นวิวัฒนาการให้พะยูนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำได้
วิวัฒนาการพะยูน สัตว์น้ำอะเมซิ่งในท้องทะเล
แม้พะยูนจะมีลักษณะทางกายภาพคล้ายโลมา แต่กลับมีวิวัฒนาการมาสายเดียวกับช้าง หรือเรียกว่าเป็นญาติห่าง ๆ กับช้างนั่นเอง เมื่อ 55 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษของพะยูนเคยอาศัยอยู่บนบก แต่ได้มีวิวัฒนาการให้ลงไปอยู่ในทะเล ขาหลังลดขนาดลงและหายไป ขาหน้าเปลี่ยนแปลงไปให้มีลักษณะคล้ายใบพาย เพื่อให้สามารถว่ายน้ำได้ มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนมีลักษณะรูปร่างเป็นพะยูนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
พะยูนกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) โดยเฉพาะหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่นและกว้างใหญ่เพียงพอ จึงถือได้ว่าพะยูนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี
พะยูนจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ยังวิกฤต
พะยูนเป็น 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนของไทย และอยู่ในบัญชี 1 ของบัญชีไซเตส ห้ามค้าโดยเด็ดขาด แต่พะยูนในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งการสูญเสียถิ่นอาศัย และการทำลายหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูน รวมถึงการล่า การติดเครื่องมือประมง และปัญหาขยะพลาสติกในทะเล จากการสำรวจปี 2565 พะยูนมีประชากรอยู่ประมาณ 273 ตัว (พื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน)
ข้อมูล-ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร